หลังจากกรณีชื่อแอพ Hyperlapse ซ้ำกันบน App Store ที่สร้างความสับสนแม้คุณสมบัติการทำงานของแอพทั้งสองจะไม่ใกล้เคียงกันเลยก็ตาม อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนสงสัยคือความสัมพันธ์ระหว่างงานวิจัย Hyperlapse ของทีม Microsoft Research ที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ไม่นาน กับ Hyperlapse ที่ Instagram เปิดตัวตามหลังมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่เพียงแต่ชื่อที่เหมือนกัน แต่การทำงานของทั้งสองฝ่ายนี้คล้ายคลึงกันมาก โดยฝั่งของไมโครซอฟท์นั้นได้พัฒนาอัลกอริทึมเพื่อปรับปรุงวิดีโอให้มีความเสถียรและได้ภาพที่นิ่ง ดูไหลลื่น และเน้นไปที่กล้องประเภทสวมใส่โดยเฉพาะ ขณะที่ฝั่งของ Instagram นั้นสร้างแอพสำหรับถ่ายวิดีโอแบบบีบเวลาที่ให้ภาพได้ค่อนข้างนิ่งและดูไหลลื่นเช่นกัน และด้วยเหตุที่มีทั้งความเหมือนและความคล้ายนี้ ทำให้มีคนจำนวนมากสอบถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้กับทางทีม Microsoft Research ที่ดูแลโครงการ Hyperlapse จนต้องออกมาชี้แจงครับ ทางทีมได้แจ้งว่าเทคโนโลยีทั้งสองนี้ถูกพัฒนาแยกจากกัน และทางทีมไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานของพวกเขา (ในที่นี้คือ Instagram) จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งพวกเขาก็ชอบในความสวยและง่ายของส่วนติดต่อผู้ใช้งานและไอเดียเจ๋งๆ ที่ใช้ไจโรสโคปของอุปกรณ์มาทำให้ real-time stabilization บนโทรศัพท์สามารถเป็นไปได้ ส่วนความแตกต่างทางพื้นฐานระหว่างเทคโนโลยีของพวกเขาและของทีมนั้น Hyperlapse ของ Instagram จะคล้ายกับระบบกันสั่นของวิดีโอที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้การเลื่อนแต่ละเฟรมของวิดีโอไปมาเพื่อกำจัดการสั่นเล็กน้อยของตัวกล้อง โดยที่การทำงานจะไม่เหมือนกับ Adobe After Effects หรือ YouTube ที่อิงอยู่บนการวิเคราะห์ภาพ แต่จะใช้ไจโรสโคปที่อยู่กับตัวกล้องแทนเพื่อประเมินปริมาณการหมุนที่จำเป็นของแต่ละเฟรม และเพื่อหลีกเลี่ยงอาการหลุดขอบ (เลื่อนภาพจนส่วนที่อยู่นอกมุมกล้องเข้ามาในเฟรม) ก็จะซูมภาพเข้าไปเล็กน้อยเพื่อเหลือพื้นที่เผื่อไว้เลื่อนภาพในแต่ละด้านไว้ด้วย งานนี้ดีสำหรับชุดภาพที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย เช่นการตั้งใจเดินถ่ายภาพบางอย่าง แต่สำหรับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างกล้องที่ใช้สวมใส่นั้น ผลที่ได้จะออกมาแย่มาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวที่มาก หากต้องการควบคุมภาพให้นิ่งจะทำให้ภาพเกิดอาการหลุดขอบอยู่ตลอดเวลา และหลุดบ่อยจนหลายครั้งหลุดไปเกินศูนย์กลางของภาพ (ดูวิดีโอตัวอย่างได้ที่ที่มา) ตัวอย่างอาการภาพหลุดขอบ (ซ้าย) และการนำพิกเซลจากเฟรมอื่นมาเติม (ขวา) วิธีที่ทีมใช้จะมีพื้นฐานที่ต่างออกไปจากที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ โดยมันจะสร้างเส้นทางของกล้องและโลกจำลองขึ้นมาใหม่ในแบบสามมิติ เพื่อที่จะให้การเคลื่อนที่ของกล้องในมิติของกาล-อวกาศเป็นไปอย่างลื่นไหล ข้ามผ่านส่วนที่ช้าของวิดีโอต้นทางอย่างการหยุดเพื่อรอสัญญาณไฟที่ทางแยกไป และที่สำคัญ วิธีที่ทีมใช้สามารถเติมพื้นที่ส่วนที่หายไปจากอาการหลุดขอบได้ด้วยการรวมพิกเซลจากเฟรมของวิดีโอต้นทางหลายๆ เฟรมเข้าด้วยกัน ทำให้ทีมสามารถจัดการกับวิดีโอต้นทางที่รุนแรงอย่างการไต่หรือการร่อนได้ (ต้นทางใช้คำว่า 'wilder') สำหรับท่านที่ต้องการรายละเอียดอัลกอริทึมของแต่ละฝ่าย แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมจากข่าว Microsoft Research พัฒนาซอฟต์แวร์ปรับคลิปวิดีโอแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งให้นิ่งและเนียนขึ้น และข่าว Instagram เผยเบื้องหลังซอฟต์แวร์ "กันสั่น" ของแอพ Hyperlapse ครับ ที่มา: Microsoft Research | First-person Hyperlapse Videos, Microsoft Research | Difference between Microsoft's and Instagram's Hyperlapse Microsoft, Instagram, Video Editing