กนง.เล็งถกเป้าเงินเฟ้อปีหน้า

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แบงก์ชาติ เตรียมหารือ กนง. วางกรอบนโยบายการเงินปีหน้า พร้อมยืนยันไม่ห่วง อีซีบี ลดดอกเบี้ย

    นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ ธปท. จะหารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า โดยคาดว่าจะมีการพูดคุยกันในการประชุมครั้งนี้ (17 ก.ย.) หรือไม่ก็ครั้งหน้า (5 พ.ย.)

    ส่วนคำถามที่ว่า การหารือในครั้งนี้จะมีการพูดคุยถึงการปรับไปใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปแทนเงินเฟ้อพื้นฐานหรือไม่ ซึ่ง นายประสาร กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องหารือกับทางคณะกรรมการก่อน

    “คงต้องหารือกันในเร็วๆ นี้แล้ว ดีไม่ดีอาจจะเป็นการประชุมครั้งนี้ (17 ก.ย.) เพราะตอนนี้ก็เดือนกันยายนแล้ว ซึ่งกรอบเป้าหมายเราต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี” นายประสารกล่าว

    ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธปท. กล่าวถึงกรณีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ว่า การที่อีซีบีลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.05% เป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์นั้น เพราะอีซีบีต้องการดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด หลังจากพบว่าตัวเลขเงินเฟ้อของกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ยังทยอยลดลงต่อเนื่อง

    “ตอนที่อีซีบีลดดอกเบี้ยลงเมื่อช่วงเดือนมิ.ย.นั้น เพราะต้องการไม่ให้เงินเฟ้อลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด โดยตอนนั้นเงินเฟ้อเขาอยู่ที่0.5% แต่หลังจากที่ดอกเบี้ยลดลง เงินเฟ้อของเขายังคงลดลงต่อเนื่อง โดยมาอยู่ที่ 0.4% ในเดือนก.ค. และ 0.3% ในเดือนส.ค. จึงเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง” นายจิรเทพกล่าว

    เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา อีซีบี ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดที่ 0.05% และปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงอีกเป็นติดลบ 0.2%เพื่อต้องการแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด

    เขากล่าวด้วยว่า การที่อีซีบีลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่เข้มแข็งนัก แม้ว่าการบริโภคโดยรวมเริ่มฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง แต่ภาคการส่งออกของกลุ่มอียูยังไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามหลังจากที่อีซีบีปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ก็ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ซึ่งส่งผลดีต่อภาพการส่งออกโดยรวมด้วย โดยกลุ่มอียูมีสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มเดียวกันอยู่ที่ 75%

    “ดอกเบี้ยที่ลดลงสะท้อนว่า เศรษฐกิจอาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เข้มแข็งนัก ยังต้องติดตามดูภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด แต่การที่อีซีบีลดดอกเบี้ยลง ก็เหมือนกับการซื้อประกันไม่ให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของนักลงทุนลดลงไปมากกว่านี้” นายจิรเทพกล่าว

    เขากล่าวด้วยว่า กรณีการลดดอกเบี้ยของอีซีบีเอง โดยภาพรวมธปท.ไม่ได้มีความเป็นห่วงมากนัก และเชื่อว่าแม้กลุ่มอียูจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลงแต่คงไม่เกิดประเด็นเรื่องยูโรแครรี่เทรด หรือ การนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสกุลเงินยูโรมาลงทุนในประเทศไทยหรือประเทศอื่นที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบสัญญาณดังกล่าว

    อย่างไรก็ตามประเด็นที่ ธปท. เป็นห่วงและติดตามดูสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ คือ การฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดสถานการณ์การเคลื่อนย้ายของเงินทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผลกระทบที่มีต่อระบบอัตราแลกเปลี่ยนไทยคงไม่ได้มากนัก และ ธปท. เองก็มีเครื่องมือพร้อมกับสถานการณ์เหล่านี้อยู่แล้ว

    สำหรับเครื่องมือที่ว่านี้ ได้แก่ 1.การที่ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว โดยปล่อยให้มีการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ซึ่งธปท.จะเข้ามาดูแลต่อเมื่อการเคลื่อนไหวมีความผันผวนที่มากเกินไปจนอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม 2.ไทยเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี และ 3. ที่ผ่านมา ธปท. ได้ติดตามดูภาวะตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดมาตลอด

    “ถ้าธนาคารกลางมีการสื่อสารที่ชัดเจน ไม่เซอร์ไพรส์ตลาด เชื่อว่าตลาดก็คงค่อยๆ ปรับตัวได้ ในแง่ของเงินทุนเคลื่อนย้ายก็น่าจะมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเข้ามามากๆ เราก็มีเครื่องไม้เครื่องมือที่คอยดูแล” นายจิรเทพกล่าว

    อย่างไรก็ตามปัจจัยที่มีต่อภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น ธปท. ให้น้ำหนักภายในประเทศมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ว่าการธปท. ได้พยายามเน้นใน 2 เรื่อง คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามศักยภาพ และการยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

    นายจิรเทพ กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐที่ต้องเร่งการลงทุน เพื่อดึงดูดให้เอกชนลงทุนตาม และทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย ส่วนการยกระดับศักยภาพของไทยนั้น ต้องอาศัยการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาด้านการศึกษา เพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

    Tags : ธปท. • กนง. • อีซีบี • เงินเฟ้อ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้