ในเวที "ความร่วมมือด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา: กรอบระหว่างประเทศ" ในการประชุมการอภิบาลอินเทอร์เน็ตครั้งที่ 9 ตัวแทนสภายุโรปชวนคิดดีๆ อะไรคือสาเหตุที่เราปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์และมาตรการที่เราใช้กันอยู่ขัดแย้งกับจุดประสงค์นั้นไหม ด้านตัวแทนคณะกรรมการการค้าของสหรัฐ เสนอว่ามีมาตรการทางแพ่งเช่นกันที่สามารถใช้คุ้มครองผู้ใช้เน็ตได้ Alexander Seger เลขานุการบริหารคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime Convention Committee) และหัวหน้าสำนักงานโครงการอาชญากรรมไซเบอร์ของสภายุโรป (Cybercrime Programme Office of the Council of Europe) เสนอในเวทีว่า ทุกวันนี้ หลายประเทศมองไอซีทีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนามนุษย์ ถ้าเรามองตามแนวทางนี้ เมื่อเราคิดเกี่ยวกับมาตรการด้านอาชญากรรมไซเบอร์ เราจำเป็นต้องคิดถึงมาตรการเหล่านั้นในฐานะส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการพัฒนาด้วย นั่นหมายความว่า ไม่เพียงมาตรการเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับสิทธิในการพัฒนาและสิทธิมนุษยชน แต่เราต้องพยายามทำให้มันสนับสนุนสิทธิเหล่านั้นด้วย มาตรการด้านอาชญากรรมไซเบอร์จำเป็นต้องเป็นพลังบวกที่ร่วมสร้างสรรค์การพัฒนา Seger ย้ำว่า เราจำเป็นต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนว่า เราจะทำอะไรไปเพื่ออะไร เหตุผลที่เราสนใจในอาชญากรรมไซเบอร์ เพราะมันบ่อนทำลายการปกครองด้วยกฎหมาย (rule of law) ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคุณค่าที่สภายุโรปให้ความสำคัญและต้องการปกป้อง และเพราะเหตุนี้เราจึงต้องจัดการกับอาชญากรรมไซเบอร์ และทำให้แน่ใจว่ามาตรการในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ จะไม่กลับไปทำลายคุณค่าที่เราต้องการปกป้องเสียเอง ในช่วงแลกเปลี่ยน Betsy Broder ที่ปรึกษาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศ จากสำนักงานกิจการระหว่างประเทศ คณะกรรมการการค้าของสหรัฐ (Office of International Affairs, Federal Trade Commission - FTC) เสนอว่า กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์อย่าง Budapest Cybercrime Convention นั้นเป็นเรื่องที่ดี และเป็นมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ ควรพิจารณาและผลักดันไปให้ถึง แต่มันไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำได้เพื่อปกป้องผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เธอยกตัวอย่างกลไกกำกับดูแลเช่น FTC ในสหรัฐ ที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคบนอินเทอร์เน็ตได้ ในกรณีที่เป็นคดีแพ่ง โดยไม่จำเป็นต้องโยนทุกอย่างให้เป็นเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลไกดังกล่าวนั้นครอบคลุมถึงเรื่องการหลอกลวงฉ้อโกง (frauds) สแปม และบ็อตเน็ตด้วย หลังจบเวที เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ Betsy สั้นๆ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ FTC ทำนั้น ไม่ได้หมายความว่ากรณีอย่างบ็อตเน็ตหรือฉ้อโกงจะไม่ใช่คดีอาญา ตัวอย่างเช่น ในคดีฉ้อโกง FTC จะเป็นคนเข้ามาดูแลคดีในส่วนที่เป็นคดีแพ่ง และทำเรื่องส่งฟ้องกับกระทรวงยุติธรรมในส่วนที่เป็นคดีอาญา ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้บริโภคจะไม่มีโอกาสได้เงินคืนเลย ถ้าทำเฉพาะคดีอาญา ดังนั้นสิ่งที่ FTC ทำ คือการมาเสริม เป็นเหมือนรถไฟที่วิ่งขนานกันไปกับการทำคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรม เวทีนี้จัดโดย Developing Countries' Centre For Cyber Crime Law ร่วมกับ Council of Europe ดูรายละเอียดเวทีและรายชื่อวิทยากร ที่มา - งานประชุม IGF 2014 IGF2014, Council of Europe, Cybercrime, FTC, Human Rights, Botnet, Consumer Protection