สั่งนักปั่นหุ้นหยุดเทรด5ปี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 4 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "คสช." ไฟเขียวร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หากพบผิด "ปั่นหุ้น-ซื้อขายไม่เป็นธรรม" สั่งหยุดเทรดนาน 5 ปี

    จากกรณีที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญให้สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการเอาผิดทางแพ่งในความผิดบางประเภทเพิ่มเติม จากเดิมที่กำหนดไว้ในคดีอาญาเท่านั้น

    นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานก.ล.ต. เปิดเผยว่า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ที่คสช. ได้อนุมัติร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ช่วยให้ ก.ล.ต. มีความคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการควบคุมการกระทำผิดด้านการทำราคาหุ้น และจะช่วยป้องปรามผู้กระทำความผิด ให้เกรงกลัว และไม่กล้ากระทำความผิด

    "ช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ยังมีการกระทำความผิดในการสร้างราคาหุ้นอยู่ แม้ลดลงไป แต่การที่ คสช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นผลดีช่วยป้องปรามผู้ที่จะกระทำผิดในการปั่นหุ้น ให้เกรงกลัวมากขึ้น และทำให้มีเครื่องมือลงโทษผู้กระทำผิดได้"

    เขากล่าวว่า พรบ.หลักทรัพย์ฉบับใหม่ จะเพิ่มอำนาจให้ก.ล.ต.ดำเนินคดีได้มากขึ้น จากเดิมหากพบผู้กระทำความผิด ต้องส่งฟ้องศาล ซึ่งเป็นคดีทางอาญา ทำให้กระบวนการดำเนินคดีใช้เวลานาน ผู้ที่กระทำผิด จะนำเงินที่ได้ มาสร้างผลประโยชน์ต่อไปได้

    นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ที่ถูกอนุมัติออกมา จะกำหนดให้ ก.ล.ต. ตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในฝ่ายต่างๆ ในการพิจารณาการกระทำความผิด หากพบว่า มีความผิดจริง ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับได้ทันที โดยจะพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมกับเงินค่าปรับ

    "การดำเนินการทางแพ่ง จะมีส่วนช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนคดีอาญา ยังมีการส่งคดีเข้าสู่การพิจารณาคดีตามเดิม นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจก.ล.ต. ในการสั่งห้ามบุคคลที่กระทำความผิดเข้ามาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 ปี"

    ทั้งนี้ พ.ร.บ. ต้องมีการสัมฤทธิผลกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดสูงสุด ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรแจ้ง ความผิดเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกรรมการ หรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนว่า ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ซื่อสัตย์

    ผู้ที่มีอำนาจลงโทษและบังคับผู้กระทำความผิด คือ คณะกรรมการกำหนด มาตรการลงโทษคดีแพ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิสระจากสำนักงานและรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยอายุความในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะกำหนดไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด และไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่เกิดการกระทำความผิด หรือหากเป็นกรณีที่มีการลงโทษผู้กระทบผิดทางอาญาก่อน การบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีมาตรการลงโทษทางแพ่ง ต้องดำเนินการภายใน 2 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาถึงที่สุด

    สำหรับขั้นตอนต่อไป คสช.จะเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อปรับภาษาทางกฎหมาย และดูความครบถ้วนรอบคอบ เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าว จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่ออนุมัติร่างพรบ.ดังกล่าวให้บังคับใช้จริง ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนัก

    ที่ผ่านมา คสช.ให้ความสำคัญกับตลาดทุนอย่างมาก โดยพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ถือว่าเป็นกฏหมายฉบับที่ 3 ที่ผ่านการอนุมัติของคสช. จากก่อนหน้านี้ที่มีกฏหมายสู่กระบวณการพิจารณา อย่างกฏหมายพ.ร.บ.การแบ่งสินทรัพย์ในรูปแบบหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า คสช.ให้ความสำคัญกับตลาดทุน เพราะมองว่าเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญของภาคเอกชน และต้องสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุน

    ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวที่จะเก็บภาษีกำไรจากหุ้น หากจะดำเนินการดังกล่าวต้องพิจารณาให้ดีว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากมีการเก็บภาษีจริง อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดทุน เหมือนกับมาตรการกันสำรองในอดีต

    "การเก็บภาษีกำไรจากหุ้น ต้องพิจารณากันให้ดี เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หากมีการเก็บจริง อาจสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เหมือนในอดีตที่เรามีปัญหาเงินทุนต่างชาติไหลออก รัฐบาลขณะนั้นออกมาตรการกันสำรอง 30% ทำให้เงินไหลออกอย่างรุนแรง ทำให้เราต้องประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วย"

    ทั้งนี้ คสช. น่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบอยู่แล้ว เพราะคณะที่ปรึกษาของคสช.มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เป็นมีความรู้ความสามารถทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมา ทางภาครัฐยังไม่ได้ประสานมายังบริษัทหลักทรัพย์เพื่อหารือเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด

    ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาด ที่มีการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางขนาดเล็กช่วงที่ผ่านมา เกิดจากทัศนคติของนักลงทุนต่อหุ้นเล็กที่ปรับตัวได้หวือหวา จึงหันมาลงทุนกันค่อนข้างมาก จึงต้องการให้นักลงทุนพิจารณาในปัจจัยพื้นฐานว่าบริษัทอยู่ในธุรกิจอะไร มีแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เติบโตหรือไม่ ไม่ควรเห็นหุ้นขนาดเล็กแล้ว เข้าซื้อขายได้เลย เพราะราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงและเร็ว สามารถปรับตัวลดลงแรงได้ใช่กัน ซึ่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ถูกผลักดันออกมาจะช่วยป้องปรามปัญหานี้ได้

    Tags : วรพล โสคติยานุรักษ์ • คสช. • ก.ล.ต. • พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ • ปั่นหุ้น

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้