สำนักงบฯเรียกส่วนราชการ-รัฐวิสาหกิจแจง เร่งเบิกงบปี 2558 หวังหนุนเศรษฐกิจปีหน้าโตได้ 4.5% ชี้ต้องส่งแผนภายใน 9 ก.ย.นี้ พร้อมรายงานเบิกจ่ายทุกไตรมาส เดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างทันทีหลังร่างกฎหมายผ่านสนช.วันที่ 17 ก.ย.นี้ สำนักงบประมาณเรียกส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจชี้แจงแนวทางปฏิบัติและกรอบเวลาเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่ต้องการให้การเบิกจ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องการให้มีปัญหาเบิกจ่ายเหมือนงบประมาณปี 2557 ที่ล่าช้าจากปัญหาการเมือง การชี้แจงครั้งนี้ สำนักงบฯสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ส่งมาให้พิจารณาภายในวันที่ 9 ก.ย. 2557 หลักการสำคัญของการเบิกจ่ายงบประมาณในปีหน้า คือ ไม่ต้องการให้เกิดการเบิกจ่ายงบประมาณกระจุกตัวในช่วงปลายปีงบประมาณ หรือช่วงไตรมาส 3 ของปีปฏิทิน ดังนั้นหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจะต้องรายงานผลการใช้จ่ายต่อคณะรัฐมนตรีทุกไตรมาส หากงบตามแผนงานไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในไตรมาสที่ 2 ของงบประมาณ หรือ ไตรมาสแรกตามปีปฏิทิน หากยืนยันจะทำตามแผนเดิม จะต้องชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น พร้อมแนวทางแก้ และหากต้องการเปลี่ยนแปลงก็สามารถทำได้ แต่ต้องตามยุทธศาสตร์เดิม ซึ่งทั้งหมดต้องเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย. 2557 นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่าการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 มีแนวโน้มว่าขยายตัวเพียง 1.5-2% และมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3.5-4.5% ในปี 2558 ดังนั้น เพื่อให้การเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้า จึงกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานราชการตั้งเบิกจ่ายในปีหน้า 96% ของงบประมาณรายจ่าย 2.575 ล้านล้านบาท โดยรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 87% ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ด้วยการเร่งรัดการก่อหนี้สำหรับแผนลงทุน ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 2557 และต้องจัดเตรียมโครงการลงทุนให้มีความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อก่อหนี้ให้ทันตามกำหนด นอกจากนี้ ต้องเบิกจ่ายงบด้านการฝึกอบรมสัมมนาให้ได้ 50% ของงบดังกล่าว ในช่วงไตรมาสแรกของงบประมาณปี 2558 เมื่อส่วนราชการทุกหน่วยงานเร่งรัดเบิกจ่ายจะทำให้มีเงินของภาครัฐออกสู่ระบบประมาณ 830,000 ล้านบาท ในช่วงไตรมาสแรกของงบประมาณปี 2558 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 700,000 ล้านบาท และงบลงทุน 129,000 ล้านบาท สัดส่วนประมาณ 1% ของจีดีพี จึงน่าจะเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง สั่งเริ่มจัดซื้อจัดจ้างทันทีหลังผ่านสนช. นายสมศักดิ์ กล่าวว่าเพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณา ภายในวันที่ 9 ก.ย.นี้ การเบิกจ่ายงบประจำต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเบิกจ่ายไตรมาสแรกของรัฐบาล ส่วนงบลงทุนต้องจัดเตรียมร่างทีโออาร์แผนลงทุนให้เรียบร้อย เมื่อร่างงบประมาณปี 2558 ผ่านวาระ 2-3 ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ให้ส่วนราชการและทุกหน่วยงานเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อหนี้ผูกพันต้องทำแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ยกเว้นรายการก่อหนี้เกิน 500 ล้านบาท ให้ก่อหนี้อย่างช้าในไตรมาส 2 เมื่อสำนักงบประมาณเห็นชอบแผนการใช้จ่ายแล้ว เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ต้องรีบโอนเงินไปยังส่วนภูมิภาคโดยเร็วไม่เกิน 7 วัน นับจากได้รับจัดสรร หากสิ้นสุดไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2 หรือสิ้นปี 2557 พบว่าการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ให้ทบทวนการใช้งบประมาณใหม่ โดยเสนอกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณา คาดปีงบ57เบิกจ่ายได้92% ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดี อธิการบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เรื่องข้อกำหนดการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปี กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน โดยระบุให้กันงบไว้เพื่อความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เร่งเบิกจ่ายงบปี 2557 ให้ได้ตามกำหนด ล่าสุดหน่วยงานราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายมาแล้วถึง 81% คิดเป็นงบที่เบิกจ่ายไปแล้ว 2.034 ล้านล้านบาท ทำให้ เหลืองบที่ยังไม่เบิก 4.9 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่าย 2.525 ล้านล้านบาท และคาดว่าจนถึงวันสุดท้ายของงบประมาณ 30 ก.ย. จะเหลืองบที่เบิกจ่ายไม่หมดประมาณ 2 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยคาดว่าปีงบประมาณนี้จะสามารถเบิกจ่ายได้ในระดับ 92.38% ต่ำกว่าจากเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ 95% เพียงเล็กน้อย ชี้งบลงทุน7เดือนเบิกจ่าย68% รายงานข่าวจากสคร.แจ้งว่า ในปี 2557 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดได้รับอนุมัติงบการลงทุน 3.42 แสนล้านบาท ในช่วง 7 เดือน หรือ สิ้น ก.ค. 2557 ตามแผนจะต้องเบิกจ่าย 1.84 แสนล้านบาท แต่มีการเบิกจ่ายจริง 1.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 68% ของการเบิกจ่ายสะสม หรือ 37% ของงบการลงที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีแผนการลงทุนสูงสุด คือ 8.6 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายจริงแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนการลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายจริงแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) มีแผนการลงทุนรวม 2.7 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายจริง 1.2 หมื่นล้านบาท และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนการลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายจริง 1.4 หมื่นล้านบาท Tags : สำนักงบประมาณ • รัฐวิสาหกิจ • เบิกจ่าย • คสช. • ราชการ • จีดีพี • สนช. • มนัส แจ่มเวหา • สคร. • ปตท.