กลุ่ม ปตท.ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นระยองแก้ปัญหาขยะล้นเมือง เตรียมแผนสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชุม ระยองโมเดล นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะ ระยองโมเดล เป็นแนวความคิดใหม่ในการบริหารขยะแบบครบวงจร โดยความร่วมมือขององค์กรท้องถิ่น นำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด และเทศบาลนครระยอง เพื่อจะเปลี่ยนขยะให้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และนวคิดนี้ได้รับการตอบรับจาก กลุ่ม ปตท.ที่มีพื้นที่ปฏิบัติงานส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ระยอง สำหรับโรงไฟฟ้าขยะระยองโมเดลสามารถกำจัดขยะสดได้ถึง 300 ตัน/วัน หรือ 1 ใน 3 ของขยะสดในระยอง ในจำนวนนี้เป็นขยะสดจากชุมชนประมาณ 230 ตัน/วัน และขยะที่ขุดจากหลุมขยะเดิมอีกประมาณ 70 ตัน/วัน ซึ่งสามารถที่จะเปลี่ยนหลุมขยะปัจจุบันให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของชาวระยองต่อไปในอนาคต ขยะสดจากชุมชนที่เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 8 MW ซึ่งจะขายไฟฟ้าดังกล่าวต่อการไฟฟ้าภูมิภาค เพื่อกระจายไฟฟ้ากลับสู่ชุมชนเมืองระยอง ทำให้โรงไฟฟ้ามีผลตอบแทนทางการเงินที่เหมาะสมและสามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้ “ผมมั่นใจว่าปัญหาขยะจะไม่น่าแขยงอีกต่อไป ขยะจะถูกเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเกษตรกร ส่วนหลุมขยะเดิมจะกลายเป็นพื้นที่ใช้สอยและพักผ่อนของชาวระยองในอนาคต จึงนับได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบของการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนที่จะสร้างวิสาหกิจชุมชนร่วมกันในรูปของ Creating Shared Value (CSV) จากการนำปัญหาของชุมชนมาจำลองแบบธุรกิจ แล้วคืนผลประโยชน์สู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายสุรงค์ กล่าว ทั้งนี้ โครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการเปลี่ยนขยะสดให้เป็นเชื้อเพลิงแห้ง หรือ Refuse Derived Fuel (RDF) ใช้เวลาก่อสร้าง 18 เดือน ส่วนที่ 2 เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน ซึ่งขั้นตอนแปลงขยะเป็นเชื้อเพลิง จะคัดแยกและควบคุมการระเหยของความชื้นและกลิ่นเหม็นของขยะ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกับชุมชนข้างเคียง ส่วนน้ำเสียจากขยะจะรวบรวบบำบัดและระบายสู่ลำธารสาธารณะอย่างเป็นระบบ เมื่อเป็นเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) แล้วเสร็จจะให้ค่าความร้อนในการผลิตไฟฟ้าถึง 4,000 แคลอรี่/กิโลกรัม ซึ่งสามารถใช้ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จ.ระยอง เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือประมาณ 1 ล้านบาทต่อคนต่อปี มีประชากรท้องถิ่นและประชากรแฝงประมาณ 1.2 ล้านคน มีขยะชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 900 ตัน/วัน หรือคิดเป็นขยะเฉลี่ยประมาณ 300 กิโลกรัม/คน/ปี ขณะที่สำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัยที่ระบุว่าหลุมขยะใกล้เต็มเพียงสองหลุมของเทศบาลนครระยอง และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จะปล่อยมลภาวะทางอากาศเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 500,000 กิโลกรัม/ปี Tags : ปตท. • สุรงค์ บูลกุล • โรงไฟฟ้าขยะ • ระยองโมเดล