สรรพากรชงรมว.คลังลดหย่อนภาษีฟื้นท่องเที่ยว

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 3 กันยายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สรรพากรเผยเสนอรมว.คลัง ลดหย่อนภาษีกระตุ้นท่องเที่ยว ประเมินรายได้จากท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มแสนล้าน

    กรมสรรพากรเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติของคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) ก่อนหน้านี้ โดยจะเสนอนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ในวันที่ 5 ก.ย.นี้

    มาตรการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานข้ามปี อีกทั้งรัฐบาลตั้งความหวังไว้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมได้ ควบคู่กับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้นภาคส่งออก ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทยยังไม่ฟื้นตัว

    นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่าได้เสนอแพ็คเกจภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและอบรมสัมมนา ให้นานรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขณะนี้ อยู่ในระหว่างการรอลงนามอนุมัติ โดยนักท่องเที่ยวที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2557 และปี 2558

    สำหรับบุคคลธรรมดา ที่เป็นนักท่องเที่ยว ซื้อแพ็คเกจทัวร์ หรือการจ่ายค่าห้องพักในโรงแรมของนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย สามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อปี

    ส่วนกรณีบริษัทนิติบุคคล ที่พาพนักงานของบริษัทไปอบรมสัมมนาภายในประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่าย เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้ไม่เกิน 2 เท่าของที่จ่ายไป โดยไม่กำหนดเพดาน

    นายประสงค์ กล่าวว่ามาตรการนี้จะทำให้กรมสรรพากร สูญเสียรายได้ภาษีไม่เกิน 2 พันล้านบาท แต่สิ่งที่กรมสรรพากรจะได้กลับคืนมา คือ รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการบริโภคภายในประเทศที่สูงขึ้นจากการเดินทางท่องเที่ยวและอบรมสัมมนา

    สทท.คาดรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มแสนล้าน

    นางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า หลังจากกระทรวงการคลัง อนุมัติให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวภายในประเทศมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลได้ ประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ (ไทยเที่ยวไทย) โดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัดอย่างมาก โดยคาดว่า ในระยะเวลา 2 ปีของการดำเนินมาตรการ จะทำให้รายได้จากตลาดภายในประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท จากปีที่ผ่านมารายได้อยู่ที่กว่า 6 แสนล้านบาท

    "นักท่องเที่ยวไทยอาจจะเปลี่ยนใจ จากที่คิดว่าจะไปเที่ยวต่างประเทศ ก็อาจจะคิดใหม่หันมาเที่ยวในประเทศ เมื่อมีแรงจูงใจด้านภาษี โดยในปีที่ผ่านมามีปริมาณนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย อยู่ที่กว่า 130 ล้านคนครั้ง โดยมีค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 5,000 บาทต่อคนครั้ง มาตรการดังกล่าวทำให้เชื่อว่าค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยจะเพิ่มมากขึ้น ผลักดันการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยรวมอย่างมาก"

    นางพรทิพย์ ยังกล่าวถึง พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยว่า จะท่องเที่ยวกระจายทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวที่บางจังหวัดเหมือนกันนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังมีพฤติกรรมการใช้บริการโรงแรมขนาดกลางและเล็ก มาตรการดังกล่าวจึงทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจหลากหลาย

    รองประธานสทท. ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เคยนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ แต่เนื่องจากเป็นการดำเนินมาตรการเพียง 3 เดือน จึงยังไม่เห็นผลทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เท่ากับระยะเวลาในการดำเนินการครั้งนี้ที่นานถึง 2 ปี และยังคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยวได้มากกว่ารายได้จากการลดหย่อนภาษีที่สูญเสียไป

    แนะเลิกกฎอัยการศึกดันท่องเที่ยวทั้งระบบ

    ด้านนางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โรงแรมในต่างจังหวัด จะเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทย รับการช่วงไฮซีซัน (ต.ค.-ธ.ค.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะไม่ช่วยกระตุ้นตลาดโรงแรมในกรุงเทพฯมากนัก

    "การยกเลิกกฎอัยการศึก จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบได้รับอานิสงส์ร่วมกัน รวมไปถึงข้อเสนอในการยืดระยะเวลาในการยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดทำวีซ่าเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวจีนออกไป จากกำหนดเดิมที่จะหมดลงในช่วงต้นเดือนพ.ย. ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น"

    ยังไม่ปรับราคาห้องพัก-ไตรมาส4ซบเซา

    นางศุภวรรณ ยังประเมินสถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในไตรมาสสี่ปีนี้ว่า คาดว่าตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่จะไม่ดีเท่าช่วงเดียวกันของหลายๆปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้รับผลกระทบทางการเมือง อย่างไรก็ตามจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งในเดือนต.ค.นี้ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซันเต็มที่

    "ปกติช่วงไฮซีซัน โรงแรมต่างๆ ในไทยจะปรับขึ้นค่าห้องพักมากกว่าอัตราปกติ แต่ในปีนี้คาดว่า จะไม่สามารถปรับราคาห้องพักได้เพิ่มขึ้นมากนัก บางโรงแรมอาจจะยังคงกำหนดอัตราห้องพักไว้ในอัตราปกติ เพื่อดึงดูดยอดเข้าพัก ที่ผ่านมาพบว่า ตลาดในเอเชียยังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับตลาดท่องเที่ยวระยะไกล (Long Haul Destination) ที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงค่อนข้างมาก" นางศุภวรรณ กล่าว

    เชื่อฟื้นท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้าย

    อย่างไรก็ตาม นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่ามาตรการภาษี เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวได้เสนอไปและตั้งความหวังว่าจะทำให้ตลาดการท่องเที่ยวไทยกลับมาคึกคักในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว จากเดิมในช่วงครึ่งปีที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย.) มาตลาดซบเซาอย่างมาก มีคนไทยเที่ยวในไทยลดลงไปจากเป้าหมาย 10% หรือ ลดเหลือ 60 ล้านคนจากเป้าหมายที่คาดว่าจะได้ 70 ล้านคน โดยมีเป้าหมายโดยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 140 ล้านคนครั้ง เติบโตจากปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 130 ล้านคนครั้ง

    ทั้งนี้สัดส่วนคนไทยที่ท่องเที่ยวในประเทศเทียบกับต่างชาติเป้าหมายปี 2557 มาจากคนไทย 140 ล้านคน เป็นต่างชาติ 26 ล้านคน โดยรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท จากคนไทย 7.5 แสนล้านบาท เป็นต่างชาติ 1.45 ล้านล้านบาท

    “ต้นปีที่ผ่านมาตลาดไทยเที่ยวไทยลดลงมากจากความไม่เชื่อมั่นต่อเหตุการณ์บ้านเมือง อนาคตคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านภาษี กระตุ้นให้ผู้บริโภคในประเทศหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น”

    เล็งพบรมว.ท่องเที่ยวเสนอแพ็คเกจเพิ่ม

    ด้านนายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการสร้างความคึกคักให้กับตลาด แต่สมาคมฯเตรียมจะเข้าหารือกับนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อนำเสนอแพ็คเกจกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในมาตรการอื่น

    นายสุรพงษ์ยังกล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีธุรกิจโรงแรมมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเพียง 60% ทั้งที่เป็นช่วงของฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ไตรมาสที่ 2 อัตราการเข้าพักตกลงไปต่ำกว่า 50% ไตรมาสที่ 3 ก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจน จึงหวังว่าไตรมาสที่ 4 ยอดการเข้าพักจะกลับไปใกล้เคียงกับช่วงไฮซีซั่นของทุกปีที่มียอดเข้าพัก 80%

    “มาตรการดังกล่าวไม่ใช่ยาแรงที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวในทันทีทันใด ยังต้องอาศัยมาตรการอื่นเข้ามาช่วย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคัก ที่เริ่มต้นจากตลาดในประเทศ ก็ทำให้มีผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นไปถึงตลาดต่างประเทศได้"

    Tags : กรมสรรพากร • ท่องเที่ยว • กรอ. • ภาษี • กระทรวงการคลัง • ประสงค์ พูนธเนศ • สทท. • กฎอัยการศึก • โรงแรมไทย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้