ไทยหวังเพิ่มสำรองก๊าซ30% ถกพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา'ยุติ' พลังงานหนุนรัฐเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา กว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ชี้หากสำเร็จช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของก๊าซในอ่าวไทยและเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซได้เพิ่ม 30% ยืดอายุการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้นานขึ้นอีก 10 ปี "รสนา" ระบุการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ควรเป็นหน้าที่สปช. ย้ำไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน การร่วมเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของคณะของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา การเดินทางไปหารือร่วมกับคณะผู้แทนรัฐบาลของกัมพูชา ไม่ได้มีประเด็นเกี่ยวกับกระทรวงพลังงานเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมเป็นการกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือในโครงการต่างๆ ทั้งการคมนาคม การค้า การเกษตร ด้านพลังงาน นายคุรุจิต นาครทรรพ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าฝ่ายไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกัมพูชาเต็มที่ ในส่วนของกระทรวงพลังงาน มีเรื่องของความร่วมมือด้านไฟฟ้า การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าหลังการเยือนกัมพูชาครั้งนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะตั้งคณะบุคคลเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการที่มีอยู่เดิม เพื่อเริ่มต้นการเจรจาซึ่งจะมีผู้แทนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมอยู่ด้วย ชี้สัญญาณดีแก้พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา นายคุรุจิต กล่าวว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและกัมพูชา หากสามารถหาข้อยุติได้เร็ว เนื่องจากกระบวนการเข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียม จะใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี จึงจะนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้ ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ถึงแม้จะยังไม่ได้มีการเปิดให้เข้าไปสำรวจ แต่เป็นพื้นที่มีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมจำนวนมาก “กรอบการเจรจาเรื่องนี้ มีคณะกรรมการชุดเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลต้องตั้งบุคคลเข้าไปใหม่ การเริ่มต้นเจรจาจะเป็นบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ การเยือนรัฐบาลกัมพูชาครั้งนี้ เสมือนเป็นการเปิดศักราชใหม่ ที่จะเริ่มต้นเข้าสู่การเจรจา“ นายคุรุจิต กล่าว ย้ำสำเร็จช่วยเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซ หากการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาสำเร็จ จะมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทย ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้วว่าจะเหลือเพียง 7 ปี ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติทางเคมี เหมาะต่อการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปัจจุบันมีก๊าซจำนวนหนึ่งที่ต้องส่งผ่านไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม โดยไม่ได้ผ่านโรงแยกก๊าซ ไม่สามารถที่จะยืนยันปริมาณสำรองก๊าซได้ว่าจะมีเพียงพอ ให้กับโรงแยกก๊าซที่จะตั้งขึ้นใหม่เป็นเวลา 25 ปีหรือไม่ แต่หากมีแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกับกัมพูชาเข้ามาเพิ่ม เป็นไปได้ที่บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) จะลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซแห่งที่ 7 และแห่งที่ 8 เพิ่ม ส่วนความร่วมมือผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ที่มีแหล่งผลิตน้ำมันดิบให้หยุดส่งออกเป็นการชั่วคราว จากปัจจุบันที่มีการส่งออกไปต่างประเทศวันละ 20,000 บาร์เรล ได้มีหนังสือเพื่อขอความร่วมมือล่วงหน้ามาแล้ว 3-4 เดือน ทำให้ผู้รับสัมปทานไม่ได้ส่งออกน้ำมันดิบไปขายต่างประเทศแล้ว ทั้งนี้ได้หารือกับผู้บริหารของบริษัทเชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ในประเทศ ยืนยันที่จะให้ความร่วมมือ โดยน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งในประเทศ จะถูกส่งเข้ากลั่นที่โรงกลั่นในประเทศทั้งหมด ไทยคาดเจรจาสำเร็จเพิ่มสำรองก๊าซได้30% แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าการเจรจาปัญหา พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่มีพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เคยเสนอแนวทางที่ให้ยึดตามแนวข้อตกลงเอ็มโอยู ปี 2554 เป็นการแบ่งการเจรจาเป็นสองส่วน คือพื้นที่ตอนบน แบ่งพื้นที่ตามหลักเขตแดน ซึ่งฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคงรวมทั้งกระทรวงต่างประเทศ จะเป็นผู้เจรจา ส่วนที่สอง เป็นพื้นที่ทับซ้อนจะพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area -JDA) หากการเจรจาได้ข้อยุติเร็ว จะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาได้รับประโยชน์ เนื่องจากสถานการณ์ราคาปิโตรเลียม ทั้งในส่วนของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังอยู่ในระดับสูง หากเจรจาสำเร็จฝ่ายไทยคาดว่าจะเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศได้เพิ่มประมาณ 30% ยืดอายุการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้ยาวขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 10 ปี กัมพูชาเตรียมเปิด"โททาล"เข้าสำรวจ ที่ผ่านมาไทยให้สิทธิ์สำรวจแก่เอกชน เมื่อปี 2514 แต่มติครม.ปี 2518 ได้ให้ยุติการสำรวจ หลังทราบว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่ในส่วนของกัมพูชาก็ได้เปิดเอกชนเตรียมเข้าสำรวจเช่นกัน ล่าสุด บริษัทโททาล เป็นผู้ได้สิทธิ์จากรัฐบาลกัมพูชา เนื่องจากสิทธิของรายเดิมหมดอายุ ก่อนหน้านี้ ไทยได้ตกลงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไป 2 รูปแบบกับ 2 ประเทศ คือในส่วนพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมร่วมกันและพบว่ามีปริมาณสำรองประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ฝ่ายละครึ่ง โดยมีองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นนิติบุคคลเป็นผู้ดูแลผล ส่วนพื้นที่ทับซ้อนไทย-เวียดนาม มีข้อตกลงการแบ่งเขตแดนระหว่างกัน โดยเวียดนามได้พื้นที่ 33% ไทยได้พื้นที่ 67% ส่วนของแหล่งอาทิตย์ที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. ผู้ถือหุ้นใหญ่และได้มีการผลิตขึ้นมาแล้วประมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน "รสนา"ชี้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไม่เหมาะ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) กล่าวว่าตนสงสัยว่าพล.อ.ธนะศักดิ์ ใช้สถานะในตำแหน่งใดไปเจรจาเรื่องดังกล่าว เรื่องดังกล่าวควรนำไปพิจารณาในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากการติดตามข้อมูล พบว่าพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร ยังไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นพื้นที่พิพาท เพราะยังไม่มีการขีดเส้นที่ชัดเจน โดยปี 2515 ที่นายพลลอน นอล เป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เคยมีการขีดเส้นพื้นที่ทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา แต่พบข้อโต้แย้ง จึงทำให้รัฐบาลช่วงนั้นที่มีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้เจรจารอบใหม่ แต่ช่วงนั้นกัมพูชามีปัญหาทางการเมืองจึงทำให้การเจรจาไม่เกิดขึ้น “การแบ่งประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ในพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-เขมร ควรจะให้เป็นเรื่องของสปช. ที่จะดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนมากที่สุด การเจรจาเพื่อพัฒนาพื้นที่และความร่วมมือต่อการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไทยกับเขมร ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งเจรจา” น.ส.รสนา กล่าว นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวว่าการเจรจาประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมร ทราบว่ามีการประสานกันมาอยู่ตลอด อย่างไรก็ตาม มองว่าการเจรจาผลประโยชน์ทางพลังงานรัฐบาลคสช.ไม่ควรดำเนินการ ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง Tags : พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร • พลังงาน • กัมพูชา • ต่างประเทศ • คุรุจิต นาครทรรพ • พื้นที่ทับซ้อน • สำรองก๊าซ • แหล่งข่าว • รสนา โตสิตระกูล • วีระ สมความคิด