เผย "ไทย" ติดอันดับ 49 จาก 162 ประเทศเสี่ยงฟอกเงินและเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนผู้ก่อการร้าย โดยมีคะแนนที่ 6.53 เท่ากับ "ปากีสถาน" ขณะที่ "อิหร่าน" ติดอันดับประเทศเสี่ยงมากสุด ตามด้วย "อัฟกานิสถาน-กัมพูชา" ด้าน สหรัฐ ประกาศคว่ำบาตรบริษัทที่ช่วยเหลืออิหร่าน รวมทั้ง "เอเชีย เอเวียชั่น โลจิสติกส์" ที่ตั้งอยู่ในไทย สถาบันบาเซิลด้านธรรมาภิบาล (Basel Institute on Governance) เปิดเผยดัชนีต่อต้านการฟอกเงิน ระบุว่า ไทยติดบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการฟอกเงิน และแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ก่อการร้าย เป็นอันดับที่ 49 จากทั้งหมด 162 ประเทศทั่วโลก ขณะที่อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และกัมพูชา ติดอันดับ 1-3 ตามลำดับ ดัชนีต่อต้านการฟอกเงิน ซึ่งสถาบันบาเซิลในสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยเป็นครั้งแรกในปี 2555 ได้จัดอันดับ 162 ประเทศในปีนี้ โดยให้คะแนนในช่วง 0-10 ซึ่งคะแนนสูง บ่งชี้ถึงความเสี่ยงสูง กัมพูชาติดอันดับ 3 สำหรับประเทศที่อ่อนไหวที่สุดต่อการฟอกเงินทั่วโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีคะแนนอยู่ที่ 8.39 ตามหลังอิหร่านที่ 8.56 และอัฟกานิสถานที่ 8.53 ขณะที่ พม่า เป็นอีกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคะแนนสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ที่ 7.89 คะแนน ส่วนฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดสำหรับการฟอกเงิน โดยมีคะแนนอยู่ที่ 2.51 ด้าน สหรัฐฯ อยู่ที่อันดับ 53 ด้วยคะแนน 5.30 สำหรับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 49 โดยมีคะแนน 6.53 คะแนนเท่ากับปากีสถาน สำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด มีระบบที่อ่อนแอในการต่อต้านการฟอกเงิน และแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ก่อการร้ายนั้น รายงานที่เปิดเผยควบคู่กับดัชนีต่อต้านการฟอกเงินระบุว่า "ปัจจัยอื่นๆ ก็มีส่วนด้วย รวมถึงอัตราการคอร์รัปชั่นที่ระดับสูง, กระบวนการยุติธรรมที่ไม่แข็งแกร่ง, การขาดทรัพยากรที่จะควบคุมระบบการเงิน และการขาดความโปร่งใสด้านสาธารณะและการเงิน" สถาบันบาเซิลวัดการคอร์รัปชั่น ความเสี่ยงทางการเมือง และการฟอกเงิน รวมถึงความโปร่งใสทางการเงินและการเมือง โดยใช้แหล่งข้อมูลจาก 14 แห่ง ซึ่งรวมถึง ธนาคารโลก, กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ เพื่อหาคะแนนรวมของแต่ละประเทศ ทางด้าน สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบริษัทอิหร่านและบริษัทต่างชาติบางแห่ง ซึ่งรวมถึง บริษัท เอเชีย เอเวียชั่น โลจิสติกส์ ที่ตั้งอยู่ในไทย เนื่องจากบริษัท, ธนาคาร และสายการบิน เหล่านี้ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นมาตรการที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐตั้งเป้าหมายในการลงโทษบริษัทไพโอเนียร์ โลจิสติกส์ของตุรกี และบริษัท Asian Aviation Logistics ที่ตั้งอยู่ในไทย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวให้การช่วยเหลือสายการบินมาฮาน แอร์ของอิหร่านในการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการซื้ออุปกรณ์เครื่องบิน เจ้าหน้าที่กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังส่งสัญญาณว่า ไม่ควรมีการหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร ในขณะที่การเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังคงดำเนินต่อไปในเรื่องการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร เพื่อแลกกับการที่อิหร่านยอมตกลงว่าจะจำกัดกิจกรรมด้านนิวเคลียร์ กระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า ทางกระทรวงกำลังตั้งเป้าไปที่บุคคลและบริษัทบางแห่งที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตร, หลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร หรือให้การสนับสนุนการก่อการร้าย โดยมาตรการนี้รวมไปถึงผู้ที่ให้ความช่วยเหลือต่อโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของอิหร่านด้วย บริษัทที่ได้รับผลกระทบรวมถึงธนาคารเอเชีย แบงก์ของอิหร่าน, สายการบินแคสเปียน, สายการบินเมราจ และบริษัทลิสซัม มารีน เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัท 4 แห่ง ที่ให้ความช่วยเหลือต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน, คว่ำบาตรบริษัทโกลเดนเทกซ์ เอฟแซดอี ซึ่งเป็นบริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ทำงานร่วมกับภาคการขนส่งสินค้าของอิหร่าน และคว่ำบาตรบริษัทเดตติน ซึ่งเป็นบริษัทอิตาลีที่ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีภัณฑ์ของอิหร่าน นางเคทลิน เฮย์เดน โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ระบุในแถลงการณ์ว่า มาตรการของสหรัฐนี้สอดคล้องกับภาระผูกพันที่ทำไว้ในเดือนพ.ย.2556 ซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขสำหรับการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ โดยการเจรจาได้เริ่มต้นในเดือนก.พ.ปีนี้ แต่อิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ชาติที่เข้าร่วมในการเจรจาไม่สามารถบรรลุเส้นตายได้ทันวันที่ 20 ก.ค.ในการบรรลุข้อตกลงแบบเบ็ดเสร็จเรื่องโครงการนิวเคลียร์ Tags : ไทย • ฟอกเงิน • ปากีสถาน • อิหร่าน • เอเชีย • อัฟกานิสถาน • กัมพูชา • คว่ำบาตร • คอร์รัปชั่น • นางเคทลิน เฮย์เดน • สถาบันบาเซิลด้านธรรมาภิบาล