จากข่าว กสท. ลงมติให้ "สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3" (ช่อง 3 Analog) สิ้นสุดการทำหน้าที่เป็นโทรทัศน์ทั่วไประดับชาติ ผมเชื่อว่ามีคนสับสนเรื่องนี้ไม่น้อยเพราะมันซับซ้อนมาก บทความนี้จะพยายามอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่าง ช่อง 3 กับทีวีดิจิตอลครับ ก่อนอื่นเลยต้องแยกแยะกันสักนิดว่าคำว่า "ช่อง 3" ในปัจจุบันมี 4 ความหมายที่ต้องเจาะจงว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ช่อง 3 ดั้งเดิม ออกอากาศในระบบแอนะล็อก ภายใต้สัญญาสัมปทานกับ อสมท. หมดอายุปี 2563 ช่อง 3 Family ช่องเด็กที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตของ กสทช. เลขช่อง 13 ช่อง 3 SD ช่องทั่วไปที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตของ กสทช. เลขช่อง 28 ช่อง 3 HD ช่องทั่วไป HD ที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตของ กสทช. เลขช่อง 33 จำง่ายๆ คือช่อง 3 ดั้งเดิมใช้โลโก้แถบสีแบบเดิม ส่วนช่อง 3 ดิจิทัลทั้งหมดใช้โลโก้ใหม่ที่เป็นวงกลมคล้ายๆ ลูกฟุตบอลครับ (ดูรูปประกอบ) ทั้งสี่ช่องนี้เป็นการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท BEC เหมือนกัน แต่นิติบุคคลที่บริหารจัดการแต่ละช่องนั้นแยกบริษัทกัน (ของเดิม = บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, ระบบดิจิตอล = บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย) ในแง่กฎหมาย ช่อง 3 ดั้งเดิมอาศัยสัญญาสัมปทานของเดิมกับ อสมท. ในการแพร่สัญญาณแอนะล็อก (มีผลจนกว่าจะหมดสัญญา), ช่อง 3 ใหม่ทั้ง 3 ช่องอยู่ภายใต้ใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีที่ กสทช. ออกให้หลังประมูลคลื่น ในแง่เทคนิค วิธีการกระจายสัญญาณที่แตกต่างกันคือใช้สัญญาณแอนะล็อกกับสัญญาณดิจิตอล (ที่ใช้อุปกรณ์รับคนละแบบ) ทีวีแอนะล็อก vs ทีวีดิจิตอล ในทางตัวหนังสือ กิจการส่วนของทีวีแอนะล็อกกับทีวีดิจิตอลแยกส่วนขาดกันชัดเจน ทั้งในแง่สัญญา/ใบอนุญาต, วิธีการออกอากาศ, เนื้อหาที่จะนำมาเผยแพร่ แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อหน่วยงานเจ้าของทีวีแอนะล็อกเดิมทั้ง 6 ช่อง ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลด้วย ทำให้เกิดสภาวะ "หนึ่งองค์กร สองระบบทีวี" และเมื่อการทำช่องทีวีหนึ่งช่องต้องใช้ทุนทรัพย์มหาศาล การนำเนื้อหาในช่องแอนะล็อกมาฉายบนช่องดิจิตอลด้วย (ภาษากฎหมายเรียก "ออกอากาศคู่ขนาน") จึงเหมาะสมกว่าทั้งในแง่ต้นทุนและความคุ้นเคยของผู้ชม กสทช. จึงเปิดโอกาสให้นำเนื้อหาในช่องแอนะล็อกเดิมมาฉายบนช่องดิจิตอลได้ด้วย แต่ต้องยอมปรับเนื้อหาให้เข้ากับกฎเกณฑ์ของทีวีดิจิตอล (เช่น ระยะเวลาโฆษณาที่ไม่เท่ากัน หรือผังรายการ) และปฏิบัติตามระเบียบของ กสทช. (เช่น เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต) ช่อง 5, 11, ThaiPBS มาขอออกอากาศคู่ขนานในทีวีดิจิตอลแบบบริการสาธารณะ ส่วนช่อง 7 และ 9 ก็มาออกอากาศคู่ขนานในแบบธุรกิจแล้ว (ตัวอย่างข่าว กสทช. อนุมัติช่อง 9 ออกคู่ขนาน) ส่วนช่อง 3 ยังไม่ได้มายื่นขอออกอากาศแบบดิจิตอล (ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น ค่าโฆษณา เลขช่อง) ในแง่กฎหมายแล้ว บริษัท BEC ไม่สามารถนำเนื้อหาในช่อง 3 เดิมมาออกอากาศผ่านระบบดิจิตอลได้ตรงๆ เพราะถือเป็นคนละนิติบุคคลกัน (รายละเอียดอ่านได้จาก ผ่ากลยุทธ์ดิจิตอลทีวีช่อง 3 ของนิตยสาร Positioning) ประกาศ Must Carry กับทีวีดาวเทียม จากหัวข้อข้างต้น ทีวีดิจิตอลกับแอนะล็อกแยกส่วนกันชัดเจน แต่ความสับสนเริ่มบังเกิดเมื่อเมืองไทยดันมีระบบทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลอีกระบบหนึ่ง (แถมนิยมอีกต่างหาก) และในอดีตที่ผ่านมาผู้ให้บริการจานดาวเทียม/เคเบิ้ลใช้วิธี "เกี่ยวสัญญาณ" ของทีวีแอนะล็อก 6 ช่องเดิมไปฉายบนระบบดาวเทียม/เคเบิ้ลด้วย ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการดู "ทีวีแอนะล็อก" ผ่าน "จานดาวเทียม" อยู่ก่อน (โดยไม่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับ เพราะทำตั้งแต่ก่อนมี กสทช. ช่วงที่เป็นสุญญากาศทางการกำกับดูแล) เมื่อเกิดหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. ขึ้นมา กสทช. ได้ออกประกาศฉบับหนึ่งเมื่อปี 2555 ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ประกาศ Must Carry (ชื่อราชการคือ หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป) เนื้อหาของมันคือกำหนดให้ "ฟรีทีวี" ต้องออกอากาศได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทีวีภาคพื้นดิน ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และสัญญาณภาพที่ออกอากาศจะต้องเหมือนกันทุกช่องทางเสมอ คำว่า "ฟรีทีวี" หรือ "การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป" ตามประกาศ กสทช. นั้นหมายถึงทีวีบริการสาธารณะ, ทีวีบริการธุรกิจ และทีวีอื่นๆ ที่ กสทช. กำหนด เป้าหมายดั้งเดิมของประกาศ Must Carry คือบีบให้ผู้บริการทีวีดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวีต้องเกี่ยวสัญญาณทีวีแอนะล็อก+ดิจิตอลไปฉายด้วย ซึ่งจะช่วยให้ฐานผู้ชมทีวีดิจิตอลกว้างขึ้น (เพราะคนจำนวนมากสามารถดูได้จากดาวเทียม แม้ในพื้นที่นั้นยังไม่มีเสาสัญญาณดิจิตอล) แต่ช่วงแรกนั้น กสทช. กำหนดให้ทีวีแอนะล็อก 6 ช่องเดิมถือเป็น "ฟรีทีวี" ด้วย (อยู่ในบทเฉพาะกาล มีผลจนกว่า กสทช. จะประกาศแก้ไข) ประกาศฉบับนี้จึงกลายเป็นฐานอำนาจให้ทีวีดาวเทียมสามารถนำสัญญาณทีวีแอนะล็อกเดิมที่ไม่ออกอากาศคู่ขนาน (ในที่นี้คือช่อง 3 ดั้งเดิม) มาฉายบนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ้นสุดประกาศ Must Carry ตรงนี้ดูลำดับเวลาดีๆ นะครับ ปี 2555 - กสทช. ออกประกาศ Must Carry ปี 2556 - กสทช. จัดประมูลทีวีดิจิตอลธุรกิจ 24 ช่อง ประสบความสำเร็จด้วยดี กุมภาพันธ์ 2557 - กสทช. ลงมติ กสท. 4/2557 ให้ทีวีแอนะล็อกเดิม หมดความเป็น "ฟรีทีวี" ตามกฎ Must Carry ภายใน 30 วันหลังทีวีดิจิตอลเริ่มออกอากาศจริง (มีผลช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2557) มติ กสท. (บอร์ดกระจายเสียงของ กสทช.) ทำให้ช่อง 3 ดั้งเดิมไม่สามารถฉายผ่านดาวเทียม/เคเบิ้ลได้อีกต่อไป แต่ยังสามารถฉายผ่านระบบแอนะล็อกเดิมได้ต่อไปจนถึงปี 2563 และถ้าอยากฉายผ่านระบบดิจิตอล (ซึ่งจะได้สองเด้งคือถูกส่งต่อไปฉายบนเคเบิ้ล/ดาวเทียมตามประกาศ Must Carry ด้วย) ก็ต้องมาขอใบอนุญาตกับ กสทช. เหมือนกับที่ช่อง 7 ทำ คสช. ต่อชีวิต แต่ก่อนมติ กสท. จะมีผลเพียงไม่กี่วัน บ้านเราเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เข้าซะก่อน และในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 (หลังรัฐประหาร 2 วัน) คสช. ก็ออกประกาศฉบับที่ 27/2557 กำหนดให้ทีวีแอนะล็อกและทีวีดิจิตอล สามารถออกออกอากาศได้ตามปกติทั้งระบบภาคพื้น ดาวเที้ยม เคเบิ้ล เป้าหมายของประกาศ คสช. คือให้การถ่ายทอดสดรายการของ คสช. ออกอากาศได้ทุกช่องทาง แต่ประกาศฉบับนี้กลับส่งผลให้ชะตาของช่อง 3 ดั้งเดิม ยืดอายุต่อไปได้ กสท. ยอมยืดอายุ 30 วันตามประกาศฉบับ 4/2557 เป็น 100 วัน ซึ่งจะครบกำหนดวันนี้ (1 กันยายน) BEC ใช้เกมฟ้องศาลปกครอง-คสช. พอรอดจากปัญหาระยะสั้น บริษัท BEC หวังแก้เกมยาว โดยยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติ กสท. 4/2557 และระหว่างรอตัดสินคดี ขอให้ศาลปกครองสั่ง "คุ้มครองชั่วคราว" เพื่อให้ช่อง 3 ดั้งเดิมออกอากาศผ่านดาวเทียมได้ดังเดิม ผลคือศาลรับฟ้องแต่ไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว ดังนั้นมติ กสท. 4/2557 ยังมีผลจนกว่าศาลจะตัดสิน (ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะออกมาอย่างไร) นอกจากนี้ ช่อง 3 ยังได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เพื่อสอบถามถึงแนวปฏิบัติตามมติ กสท. ว่าจะให้ทำอย่างไร ผลคือ คสช. ส่งเรื่องกลับมาถาม กสทช./กสท. ว่ามีความเกี่ยวโยงกันอย่างไรในเชิงกฎหมาย กสทช. ยืนยันคุ้มครอง 100 วันแล้วเลิก กสท. ประชุมกันวันนี้ (1 กันยายน) และมีมติว่าจะไม่ยืดเวลา 100 วันออกไป ทำให้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ผู้ประกอบการดาวเทียม/เคเบิ้ล ไม่มีสิทธินำช่อง 3 ดั้งเดิมมาออกอากาศนั่นเองครับ ทางออกของช่อง 3 ถ้าช่อง 3 เลือกเส้นทางที่ถูกต้องตามกรอบกฎหมาย ก็มี 2 ทางเลือกคือ นำช่อง 3 ดั้งเดิมมาออกอากาศคู่ขนานทางดิจิตอล โดยขออนุญาตจาก กสทช. ขอใบอนุญาตทีวีดาวเทียมเพิ่มเติม แล้วออกอากาศเฉพาะทางดาวเทียม (ไม่มีดิจิตอล) แต่ถ้าช่อง 3 + ผู้ประกอบการดาวเทียมยังมั่นใจว่า ด้วยความนิยมที่สั่งสมมานานจะทำให้ผู้บริโภคยังดูช่อง 3 ต่อไป ก็อาจ "ลอง" ฉายสัญญาณช่อง 3 ทางทีวีดาวเทียม/เคเบิ้ลต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้ (2 กันยายน) ซึ่ง กสทช. ก็คงสั่งปรับ/ฟ้องตามมาตรการทางกฎหมายต่อไปครับ ข้อมูลอ้างอิง Timeline เฉพาะส่วนของปี 2557 จาก Supinya.com ทางเดินช่อง3ชอบด้วยกฎหมาย จาก Supinya.com ช่อง3กำลังชักกะเย่อกับอุตสาหกรรมและคนดู จาก Supinya.com ช่อง 3 VS กสทช. ทีวีดิจิตอล ศึกถอน 'มัสต์แครี่' ยื้อนาทีจอดำ - ไทยรัฐ Broadcast, NBTC, Thailand, TV