ต่างชาติแห่ลงทุนโลจิสติกส์ บริษัทไทย2-3พันรายส่อปิดตัว ซ้ำรอยโชห่วย เหตุไม่ปรับตัวยังเน้นระบบสายสัมพันธ์ หลังจากไทยทยอยเปิดเสรีในกลุ่มสาขาบริการโลจิสติกส์เป็นไปตามข้อตกลงการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จนถึงปัจจุบันเปิดเสรีไปแล้ว 11 สาขา ประกอบด้วย บริการขนส่งทางทะเล บริการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ บริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ บริการขนส่งทางอากาศ บริการจัดส่งพัสดุ รวมถึงกลุ่มสาขาที่ไม่ใช่ขนส่ง ประกอบด้วย บริการยกสินค้าที่ขนส่งทางทะเล บริการโกดังและคลังสินค้า บริการตัวแทนรับจัดการขนส่งสินค้าบริการเสริมอื่นๆ (ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสินค้าก่อนบรรทุก) รวมถึงบริการด้านบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนบริการด้านจัดการพิธีการศุลกากร โดยทั้ง 11 สาขาดังกล่าว ได้ขยายสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติจากไม่เกิน 49 % เป็นไม่เกิน 70 % นายพงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยถึงผลกระทบของบริษัทโลจิสติกส์ไทยต่อการเปิดเสรีในธุรกิจโลจิสติกส์ว่า การเปิดเสรีธุรกิจโลจิสติกส์ภายใต้ความตกลงเออีซี โดยการขยายสัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติจากไม่เกิน 49 % เป็นไม่เกิน 70 % เริ่มเปิดเสรีตั้งแต่ปี 2553 จากกลุ่มธุรกิจการบริการขนส่งทางอากาศ ตามมาด้วยการเดินเรือและการบริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ในปี 2556 ส่งผลทำให้บริษัทต่างชาติที่เดิมให้บริการเดินเรือหรือการขนส่งทางอากาศเพียงอย่างเดียว ขยายกิจการเข้ามาตั้งสำนักงานรับบริการลูกค้าในไทย ตั้งแต่โรงงาน เอกสาร คลังสินค้า จนถึงกระบวนการส่งออก แบบครบวงจรมากขึ้น เช่น บริษัท เอพีแอล โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นกลุ่มบริษัทขนส่งทางเรือจากสิงคโปร์ ที่เดิมให้บริการด้านการระวางเรือ ก็ขยายกิจการเข้ามาให้บริการตั้งแต่ต้นทาง หรือแม้กระทั่งบมจ. อาร์ ซี แอล บริษัทบริษัท ยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทางเรือ ทางอากาศ จากญี่ปุ่น และบริษัทเมอร์ค เป็นต้น รุกอาเซียนเหตุศก.สหรัฐ-ยุโรปชะลอ กลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างชาติเริ่มเข้ามาขยายการให้บริการในไทย เนื่องจากเศรษฐกิจในสหรัฐ และยุโรป ชะลอตัว ทำให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติเหล่านี้รุกเข้ามาหารายได้ในอาเซียนด้วยการบริการโลจิสติกส์ครบวงจรมากขึ้น สอดรับกับตลาดอาเซียนที่เปิดเสรีมากขึ้น “บริษัทต่างชาติ ที่มีบริษัทแม่ในยุโรป และสหรัฐ รวมถึงในเอเชีย เริ่มเห็นโอกาส หลังจากเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกเริ่มมีปัญหา ก็มาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ อาเซียน ที่เศรษฐกิจกำลังโต ชดเชยกับตลาดที่หายไป จึงมีนโยบายออกมาตั้งสำนักงานเพื่อให้บริการโลจิสติกส์อาเซียน จากเดิมเพียงการขนส่งนอกประเทศ แต่เมื่อมีการเปิดเสรีมากขึ้นก็รุกเข้ามาหาโอกาสในไทย” นายพงษ์ชัย กล่าว ขนส่งทางบกเตรียมเปิดเสรีปลายปี58 เขากล่าวต่อว่า ความเคลื่อนไหวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน จะรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งแม้จะยังไม่รวมกลุ่มธุรกิจการบริการโลจิสติกส์ขนส่งทางบกที่จะเปิดเสรีเต็มรูปแบบในวันที่ 31 ธ.ค.ในปี 2558 แต่สัดส่วนของผู้ประกอบการด้านขนส่งทางบกประมาณ 70-80% ของการขนส่งทั้งหมด (บก น้ำและอากาศ) จึงเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขัน ก่อนจะสูญเสียตลาดให้ต่างชาติมากขึ้น "ปัจจุบันเริ่มเห็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งบริษัทในไทยและมีสถานะเป็นบริษัทไทยเข้าไปซื้อกิจการผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทย ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น กรณีของบมจ. อีเทอร์นิตี้ แกรนด์ โลจิสติคส์ ก็ถูกบริษัท ฮิตาชิ ทรานสปอร์ต ซิสเต็ม (ประเทศไทย) บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาซื้อกิจการ เจ้าของที่เป็นคนไทยจึงเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของผู้บริหารบริษัท" นายพงษ์ชัย กล่าวและว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้โลจิสติกส์ไทยสูญเสียลูกค้าให้ต่างชาติ บางรายเคยใช้บริการบริษัทไทยก็เปลี่ยนไปใช้บริการต่างชาติที่มีเทคโนโลยีทันสมัยกว่า ตลอดจนได้เปรียบด้านทุน ที่มีศักยภาพในการลงทุนขยายกิจการเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะระบบบริการด้านพิธีการศุลกากรด้านอิเล็กทรอนิกส์ (E-customs) ที่มีการใช้ทั่วโลกตามมาตรฐานสากล โดยบริษัทต่างชาติเตรียมพร้อมลงทุนด้านนี้อยู่แล้ว แต่บริษัทคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อม ทั้งในด้านของเงินทุน การบริหารจัดการ และทัศนคติที่ยังทำงานในรูปแบบเดิมๆ จึงเสียเปรียบต่างชาติ ที่จะเข้ามาเป็นผู้กุมตลาด จากเดิมที่คนไทยรับงานเป็นลำดับแรกของห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ก็อาจลดลงเป็นเพียงผู้รับบริการต่อเนื่องต่อจากต่างชาติในลำดับที่ 2 และ 3 หรือขั้นที่เป็นกระบวนการพิเศษที่ใช้จำเป็นต้องใช้บริษัทไทย คาดบริษัทไทยทยอยปิดตัว2-3พันรายใน3ปี “กิจการโลจิสติกส์ไทยกว่า 50 % ขีดแข่งขันสู้ต่างชาติไม่ได้ หรือประมาณ 10,000 ราย จากจำนวนทั้งหมด 20,000 ราย โดยคาดว่าจะมีบริษัทที่ค่อยๆ ปิดกิจการประมาณ 20-30% หรือประมาณ 2,000-3,000 ราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า และกิจการไม่ต่ำกว่า 20% ที่เหลือในตลาดจะรับงานต่อช่วงจากต่างชาติ ทำให้กำไรน้อยลง และไม่ได้เป็นผู้ติดต่อกับลูกค้าโดยตรงจึงค่อยๆ สูญเสียระยะห่างกับลูกค้า คาดว่าภายใน 2-3 ปี หลังเปิดเออีซี จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการคนไทยมากขึ้น ไม่ต่างจากโชห่วยไทยที่เดิมเคยครองตลาด 70-80% ปัจจุบันเหลือเพียง 45%” เขากล่าว โลจิสติกส์ไทยแข่งยากเหตุไม่ปรับตัว ทั้งนี้สาเหตุที่บริษัทโลจิสติกส์ไทยส่วนใหญ่แข่งขันสู้ต่างชาติไม่ได้ เนื่องจากธุรกิจนี้ต้องใช้ความทันสมัย ความพร้อมด้านเทคโนโลยี แต่รูปแบบโมเดลธุรกิจของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยส่วนใหญ่เติบโตมาจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับข้าราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จึงต้องพึ่งพาบริษัทคนไทยในการบริการด้านเอกสารพิธีการศุลกากร โดยเฉพาะกฎหมายศุลกากรไทยถือว่าล้าหลังที่สุดในอาเซียน เพราะยังติดกรณีที่ไม่รับรองด่านศุลกากรที่ไปตั้งในต่างประเทศ ทั้งที่ต่างประเทศมีการแก้ไขให้ยอมรับมาตรฐานซึ่งกันและกันผ่านชายแดน เช่น ลาวและกัมพูชา หรือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ “เมื่อเปิดเสรีมากขึ้น บริษัทคนไทยที่เติบโตมาแบบเน้นการสร้างสายสัมพันธ์ และมีกฎหมายเป็นตัวปกป้องก็จะเริ่มสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ทุนและการบริหารจัดการ” เขากล่าว สำหรับจำนวนผู้ประกอบการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ของไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ราย มีสัดส่วนของบริษัทไทยประมาณ 80%หรือประมาณ 16,000 ราย โดยในปี 2555 ธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งระบบทำรายได้ 601,129 ล้านบาท ปัจจุบันอาจจะขยายตัวขึ้นเกือบถึง 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8-9% ต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จี้คสช.เร่งออกก.ม.ป้องโลจิสติกส์ไทย เขากล่าวถึงวิธีการในการปรับตัวเชิงรุกและรับในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเปิดเออีซีในปลายปี 2558 ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรเร่งออกกฎหมายที่เคยร่างเพื่อปกป้องโลจิสติกส์ของคนไทย ซึ่งเคยร่างไว้ตั้งแต่ปี 2553 เป็นพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจโลจิสติกส์ของคนไทย ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนเข้ามาช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร และขยายธุรกิจภายใน 5-8 ปี “ผมไม่เข้าใจว่าการเปิดเสรีเพื่อใคร ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางเออีซี และมีการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผู้ได้ประโยชน์จริงๆ กลับเป็นต่างชาติที่มีศักยภาพกว่า เราเปิดเสรีแต่ไม่มีมาตรการรองรับใดๆรองรับ ที่แปลกที่สุดคือยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไออีก “ เขากล่าว Tags : เออีซี • เปิดเสรี • ไทย • โลจิสติกส์ • เศรษฐกิจอาเซียน • ขนส่งทางเรือ • บริษัทต่างชาติ • โชห่วย • ภาษี • บีโอไอ