'เอกชน-รัฐ'จี้เร่งลงทุนอินฟราฯ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 30 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "เอกชน-รัฐ" จี้เร่งลงทุนอินฟราฯ หวังดึง"เอฟดีไอ"เข้าประเทศ

    สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ จัดสัมมนาเรื่อง "การให้เอกชนร่วมลงทุนกับการพัฒนาประเทศ" วานนี้ (29 ส.ค.) โดยเอกชนเสนอให้ภาครัฐจัดทำแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมทุกภาคส่วน ทั้งพลังงาน ไอซีที คมนาคม สังคม และการศึกษา พร้อมแผนการระดมทุน หวังดึงการลงทุนต่างชาติ ขณะที่คมนาคมเผยรัฐวิสาหกิจลังเลออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เหตุต้นทุนการเงินสูงกว่าเงินกู้

    ขณะที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น คือ ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ โดยลดการใช้แรงงานลง และยกระดับคุณภาพการผลิตมากขึ้น

    "เรามองว่าหลังจากตั้งรัฐบาลใหม่ และนายกรัฐมนตรีจะแถลงนโยบายกับรัฐสภา เรื่องที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เน้นหนัก คือ นโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต สร้างความยั่งยืน และรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างเอกภาพทางการเมือง ไม่ให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ ปฏิรูปด้านกฎหมายวัฒนธรรมสังคม ให้มีประสิทธิภาพ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ และระบบไอทีให้มีพื้นฐานที่ดี"

    จี้รัฐดันโครงการลงทุนพื้นฐานเกิด

    นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือ การผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้วให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งโครงการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ อยู่ในแผนที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว โครงการเหล่านี้มีมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ใช้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอีก 2 แสนล้านบาท เป็นเรื่องของการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ โครงการพวกนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น

    "การลงทุนนั้นบางส่วนรัฐบาลต้องดำเนินการเอง และบางส่วนควรเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนได้ เรื่องนี้สังคมต้องเห็นพ้องร่วมกันว่า โครงการไหนควรให้รัฐบาลลงทุนเอง หรือโครงการไหนควรให้เอกชนลงทุน และควรกำหนดกรอบกติกาลงทุนให้ชัดเจน" นายณรงค์ชัย กล่าว

    โดยเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สรุปให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบแล้ว เป็นผลให้บางโครงการถูกบรรจุไว้ในแผนงบประมาณประจำปี 2558 โดยในปีหน้าจะมีเม็ดเงิน 6 หมื่นล้านบาทที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว

    รวมถึงการลงทุนในรถไฟฟ้า และมอเตอร์เวย์บางสาย ถูกอนุมัติไปแล้วเช่นกัน ส่วนการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม อาจใช้วิธีการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนจากประชาชน ลดภาระงบประมาณ และมีการจ่ายปันผลเป็นสิ่งตอบแทนนักลงทุน

    ที่ผ่านมาพ.ร.บ.ร่วมทุนที่ถือว่าเป็นอุปสรรค เราได้แก้กฎหมายนี้ไปแล้ว ความพร้อมด้านกลไกมีครบถ้วนเหลือแค่การตัดสินใจ ซึ่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ใช่วิธีการระดมทุนหลัก แต่เป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถระดมทุนได้ ซึ่งการระดมทุนเอกชนจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะ

    ควรปรับนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศ

    "ที่เรามองว่า ไม่ควรจะให้เกิน 50% ต่อจีดีพี เพราะภาระที่ต้องมาจ่ายดอกเบี้ยจะสูงเป็นภาระแก่งบประมาณ ซึ่งโอกาสในปัจจุบันถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ต้องรีบหยิบฉวย หากเราทำสำเร็จจะช่วยรักษาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง และถ้าผมอยู่ในรัฐบาลจะช่วยให้เกิดการอนุมัติอย่างรวดเร็ว และจะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าให้ได้"

    นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นคือ การปรับนโยบายเศรษฐกิจกับต่างประเทศใหม่ เพราะที่ผ่านมาเราพึ่งกลุ่มประเทศตะวันตกเยอะเกินไป ต้องมีการปรับอัตราส่วนใหม่ เราต้องหันไปลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในกลุ่มลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งตอนนี้มีทิศทางที่ดี และการค้ากับประเทศในภูมิภาคเริ่มดีขึ้น

    รวมถึงการขยายการกำลังการผลิต พลังงานและอุตสาหกรรมหลักกับประเทศจีเอ็มเอส อย่างที่ผ่านมาการเชื่อมต่อด้านพลังงานกับประเทศลาว เป็นแนวโน้มที่ดี รวมถึงการพัฒนากรอบความร่วมมือกับกลุ่มในอาเซียน บวก 3 และอาเซียนบวก 6 เราต้องปรับระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งการค้าและการลงทุนเพื่อเอื้ออำนวยการค้าให้มากที่สุด รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับโลกมุสลิมให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

    พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทุกด้าน

    นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ หลังจากที่ไม่ได้ลงทุนมานาน ทำให้อันดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของไทยเทียบประเทศเพื่อนบ้านลดลง และทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศลดลงด้วย โดยโจทย์ของกระทรวงคมนาคม จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทุกด้าน คำนึงถึงต้นทุนโลจิสติกส์ การใช้พลังงานของประเทศ และการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน โดยจะประมวลแผนลงทุนทั้งหมดถึงปี 2563 เสนอต่อคสช.อีกรอบภายใน 1-2 เดือนนี้

    การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีการพูดถึงมานานแล้ว แต่ที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะหน่วยงานต่างๆเป็นห่วงเรื่องต้นทุนทางการเงินสูงกว่าเงินกู้ เพราะต้องมีการจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนในระดับ 5-6% ขณะที่ต้นทุนเงินกู้อยู่ในระดับ 3% ทำให้การออกกองทุนชะลอออกไป

    ประสานสำนักงบทำแผนลงทุน 10 ปี

    ขณะนี้ได้เข้าใจเรื่องต้นทุนทางการเงินที่ไม่เหมือนกันแล้ว ก็คงจะหารือกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ต่อไป ในส่วนของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานคือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เพราะมีสินทรัพย์ที่มีรายได้พร้อมขายเข้ากองทุนได้

    สำหรับการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯนั้น คงต้องศึกษาก่อนว่าโครงการลงทุนเร่งด่วนมีจำนวนเท่าใด จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้มากน้อยเพียงใด ขอเวลา 1 เดือนในการศึกษาและต้องเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย

    กระทรวงได้ประสานไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมทำแผนการลงทุนด้านคมนาคมในระยะยาว โดยในช่วง 10 ปีแรก เป็นแผนการลงทุนทั้งหมดว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด และในส่วน 10 ปีต่อไปเป็นเรื่องงบในการบำรุงรักษา

    สคร.ทยอยออกก.ม.ลูกพ.ร.บ.ร่วมทุน

    นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สคร. เปิดเผยว่า ในการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนนั้น จะนำผลการศึกษาเดิมมาพิจารณาควบคู่ด้วย ซึ่งตามผลการศึกษาเดิม ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามก็ต้องมาดูแผนลงทุนของกระทรวงคมนาคมก่อนว่าจะลงทุนเท่าใด แหล่งเงินทุนมาจากไหน

    ทั้งนี้ พ.ร.บ.การร่วมทุนจะต้องมีการออกกฎหมายลูกเพื่อรองรับอีก 16 ฉบับ ขณะนี้ออกไปแล้ว 8 ฉบับ ยังเหลืออีก 8 ฉบับ ต้องรอให้มีการแต่งตั้งครม.ชุดใหม่ เพื่อเสนอกฎหมายลูกที่เหลืออยู่เข้าสู่การพิจารณา คาดว่าจะสามารถออกได้แล้วเสร็จในปี 2558 ระหว่างนี้ หากมีโครงการใดมีความพร้อม ก็สามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐได้ โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายลูกผ่านทั้งหมด

    ชง"คสช."รวมโครงการลงทุน

    นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาคสช. ด้านโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม กล่าวว่า จะเสนอให้ คสช.รวบรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหมด ทั้งด้านพลังงาน คมนาคม โทรคมนาคม และด้านสังคม เป็นต้น แล้วประกาศเม็ดเงินลงทุนรวม พร้อมแผนการจัดหาแหล่งเงินทุนว่า จะมาจากที่ใดบ้าง เหมือนกับในต่างประเทศ เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบว่า ไทยจะมีการลงทุนในด้านใดบ้าง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะให้นักลงทุนต่างชาติ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในประเทศไทย

    แม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเข้ามาต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) กลับปรับลดลง จากที่เคยอยู่ในระดับ 5% ต่อจีดีพี ล่าสุดในปี 2556 สัดส่วนการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศกลับลดลงมาอยู่ระดับ 3% ต่อจีดีพี ทั้งที่ตัวเลขการลงทุนทำสถิติสูงสุด ซึ่งตัวเลขนี้น่าเป็นห่วง และต้องหาเหตุผลว่าทำไมนักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับไทยน้อยลง

    Tags : สคร. • ณรงค์ชัย อัครเศรณี • กนง. • ธปท. • เศรษฐกิจ • จีดีพี • โครงสร้างพื้นฐาน • สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ • ปลัดกระทรวงคมนาคม • คสช.

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้