"นักธุรกิจ-นายแบงก์"เร่งเอสเอ็มอีอย่ารอเออีซีเกิดปีหน้า แนะรวมกลุ่มสร้างฐานในตลาดซีแอลเอ็มวี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวภายหลังร่วมงานสัมมนา "ไทยแลนด์โฟกัส 2014 ปฏิรูปนำไทยเติบโตยั่งยืน" วานนี้ (28 ส.ค.) ว่า โอกาสในการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีมากมายไม่แพ้ประเทศคู่แข่งอื่นๆ และซีแอลเอ็มวีตอนนี้เป็นตลาดน่าสนใจมาก เขาอธิบายว่า การเข้าไปในตลาด 4 ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี ที่มีประชากรรวมกันอยู่มากราว 180 ล้านคน ขณะที่อัตราการเติบโตประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% อย่างพม่าอีก 10 ปีการเติบโตที่ระดับ 10% คิดว่าไม่ใช่เรื่องยาก และหมายถึงอนาคตของตลาดไทย ด้านนายธนวงษ์ อารีรัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย เห็นสอดคล้องกับนายกอบศักดิ์ เรื่องประชากรไทยหากรวมกับตลาดซีแอลเอ็มวี จะเป็นตลาดใหญ่ มีผู้บริโภคมากถึง 240 ล้านคน ทำให้บริษัทไทยควรรีบเคลื่อนไหว ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ปีหน้า ถึงจะเข้าไปในตลาดนี้ ทั้งไทยและซีแอลเอ็มวีหากมองภาพใหญ่ ล้วนเป็นกลุ่มประเทศมีโลเคชันยอดเยี่ยม สามารถเชื่อมโยงสองฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับแปซิฟิก สามารถเข้าถึงจีนกับอินเดีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเร็ว อินโดจีนได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เหมาะกับการเข้ามาลงทุน หากเทียบกับ 4-5 ปีก่อน ตอนนี้กลุ่มซีแอลเอ็มวีต่างเปิดกว้างมีนโยบายเป็นมิตรกับธุรกิจแล้ว เตือนอย่าประเมินซีแอลเอ็มวีต่ำไป นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่ได้เข้าตลาดซีแอลเอ็มวีบ่อยครั้ง พบประเทศเหล่านี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก สาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานแต่ละประเทศค่อนข้างดี คุณภาพของนักธุรกิจโดยเฉพาะพม่าดีเยี่ยม ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้เร็ว มีความเป็นผู้ประกอบการ สามารถซึมซับเทคโนโลยีได้เร็ว และทุกครั้งที่เดินทางไปพม่าพบเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีตอนนี้ เปิดกว้างและมีนโยบายเป็นมิตรกับนักลงทุน อย่างลาวมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลง แม้มีความเคลื่อนไหวช้ากว่าประเทศอื่น แต่พร้อมเปิดรับหุ้นส่วนกับเทคโนโลยีใหม่ และยังมีแรงงานวัยทำงานเป็นคนรุ่นใหม่อยู่มาก "ดูพื้นฐานของกลุ่มซีแอลเอ็มวีแล้ว ตลาดเหล่านี้มีพลังและชีวิตชีวา ทำผลประกอบการได้อย่างน่าทึ่ง มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายเกือบทุกเดือน ภาวะแวดล้อมในซีแอลเอ็มวียังสะอาด มีโครงการเป็น 100 เกิดขึ้นในพื้นที่รอบเมือง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอย่าประเมินตลาดซีแอลเอ็มวีต่ำเกินไป" คู่แข่งในซีแอลเอ็มวีมีมาก นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ใน 4 ประเทศซีแอลเอ็มวีกลับมีคู่แข่งบริษัทไทยเกิดขึ้นทุกวัน และคู่แข่งไม่ใช่แค่บริษัทท้องถิ่นเท่านั้น ยังมีคู่แข่งจากสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและจีน หมายถึงชาติต่างๆ กำลังเข้ามาในซีแอลเอ็มวี เขาเตือนบริษัทไทยว่า ควรใช้โอกาสนี้เวลานี้ อย่ารอช้าไม่ต้องรอให้ตลาดเออีซีเกิดสิ้นปี 2558 ให้คิดออกไปทำมาหากินในระดับภูมิภาคมากขึ้น บริษัทไทยจะพึ่งพาแต่ตลาดในบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ควรมองตลาดรอบข้างรายล้อมไทย "คู่แข่งทำธุรกิจของบริษัทไทยในซีแอลเอ็มวีแข็งแกร่งมาก อย่างร้านกาแฟในกัมพูชาพัฒนาทำได้ดีไม่แพ้ต้นตำรับในสิงคโปร์ หรืออย่างภาคแบงก์จากประสบการณ์ที่พบมาในกัมพูชา เป็นภาคที่แข่งขันกันดุเดือดมาก เพราะมีแบงก์ใหญ่เข้าไปในตลาดกัมพูชา 40 รายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด เอเอ็นแซด ซีไอเอ็มบี แบงก์เกาหลีและจีน ถ้าแบงก์บ้านเราไม่ไปตอนนี้ถือว่าสายและอย่าไปเลย" นายกอบศักดิ์ ย้ำว่า ตอนนี้เป็นโอกาสที่ใช่และดี ในการเข้าไปสร้างฐานในซีแอลเอ็มวี ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอยู่ติดล้อมรอบไทย มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงสู่ลาว สะพานข้ามแม่น้ำเมยสู่พม่า ทุกอย่างมีพร้อมแล้วที่ช่วยให้สินค้าต่างๆ ออกจากไทยไปสู่ภูมิภาคส่วนอื่นได้รวดเร็ว ขณะที่เวลานี้ผู้บริโภคในตลาดซีแอลเอ็มวี ยกให้สินค้าไทยเป็นเบอร์หนึ่ง ถือเป็นสินค้าคุณภาพ หากเทียบกับสินค้าจีนหรือเวียดนาม ส่วนนายธนวงษ์ มองว่า ตลาดซีแอลเอ็มวี น่าจะสร้างสมดุลไม่ให้นักลงทุนจากประเทศใดประเทศหนึ่ง เข้าไปมียึดครองตลาดทั้งหมดในประเทศ และคิดว่าแต่ละประเทศต้องมีแผนระดับชาติ ที่จะสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับนักลงทุนจากทุกประเทศ นอกจากนี้แต่ละประเทศ ควรมีแผนระดับชาติหารือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ที่ช่วยเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ช่วยให้ไทยกับซีแอลเอ็มวี ได้ประโยชน์จากเครือข่ายทางเศรษฐกิจ ที่มีร่วมกันในภูมิภาค มีมาสเตอร์แพลนระดับชาติร่วมกัน ทำให้ทุกฝ่ายพอใจ หนุนรัฐช่วยบริษัทไทยไปนอก หากให้เสนอแนะรัฐบาลควรไทยทำอย่างไร ช่วยสนับสนุนภาคเอกชนไทย โดยควรทำอย่างที่รัฐบาลจีนช่วยบริษัทจีนอย่างมากในการออกไปโตในต่างประเทศนั้น โดยสิ่งจำเป็นคือเรื่องข้อมูล ทุกวันนี้บริษัทไทยต้องค้นคว้าหาข้อมูลเอง เพื่อออกไปตลาดต่างประเทศเพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจด้วยตัวเอง นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับบทบาทของกรมส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้มีมากกว่าดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แต่ควรวางกรอบนโยบายช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยไปขยายธุรกิจในตลาดเพื่อนบ้าน และควรจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาสักหน่วยงานหนึ่ง เพื่อช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลให้กับตลาดไทยต้องการไปต่างประเทศ "บริษัทไทยทุกวันนี้ มาขอคำปรึกษาจากแบงก์เรา เพราะกลัวมีปัญหาไม่ได้รับการสนับสนุนเวลาติดต่อกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยมีเงินทุนจำกัด หากรัฐบาลมีข้อมูลสนับสนุนและมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนอย่างที่รัฐบาลจีนทำ จะช่วยเอสเอ็มอีไทยมีโอกาสมากขึ้นในการขยายธุรกิจเข้าตลาดซีแอลเอ็มวี" ความเห็นของนายกอบศักดิ์ เป็นไปในแนวเดียวกับ นายธนวงษ์ ที่ว่า ภาครัฐต้องช่วยให้บริษัทไทยผนึกกำลัง จับมือรวมตัวไปขยายตลาดแบบไปเป็นกลุ่ม ตรงนี้จะช่วยให้การทำธุรกิจบริษัทไทยสะดวกขึ้น ทั้งนี้เขาอยากให้หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ดำเนินการให้การสนับสนุนบริษัทไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อาจมีการตั้งมีหน่วยงานทำหน้าคล้ายคลึงกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร ขึ้นมาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเอสเอ็มอีในประเทศที่ต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ Tags : กอบศักดิ์ ภูตระกูล • ธนาคาร • นักธุรกิจ • เอสเอ็มอี • เออีซี