ฟิทช์ ชี้แบงก์ไทยเสี่ยงถูกหั่นเรทติ้ง หากเศรษฐกิจยังชะลอตัวแรง เผยแม้ฐานะแข็งแกร่ง แต่ยอดสินเชื่อยังสูง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุในรายงาน “APAC Banks-Chart of the Month report” ว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงเพียงพอที่จะรับมือกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ แต่ธนาคารเหล่านี้จะเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นหากการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ “แม้ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยต่างมีฐานะทางการเงินที่ดีและน่าจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงขาลงได้ แต่ความเสี่ยงต่อฐานะทางการเงินและโอกาสในการถูกปรับลดอันดับเครดิตอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น หากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจนั้นรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์” ฟิทช์ ยังระบุด้วยว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยได้เพิ่มความสามารถในการรองรับความเสี่ยง (buffer) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้งในด้านของฐานะเงินกองทุนและระดับเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ(reserve coverage) ซึ่งน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับปกติตามวัฏจักรเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีแนวโน้มการเติบโตภายในประเทศที่ค่อนข้างจำกัดมากขึ้น เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจการเงินต่างๆ ในระดับที่สูงมากแล้ว ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย ได้ประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านธุรกิจการบริหารจัดการกองทุน ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจประกันชีวิต นอกจากนี้ ธนาคารทั้ง 4 แห่งยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งด้านสินเชื่อและเงินฝากในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 4 แห่งมีขนาดสินทรัพย์รวมกันประมาณ 59% ของสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ฟิทช์ ระบุด้วยว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ดังกล่าวน่าจะมีกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดพร้อมกับการบริหารค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ในส่วนของการขยายธุรกิจในต่างประเทศนั้น นับว่ายังมีโอกาสแต่ฟิทช์มองว่าน่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลยุทธ์ของธนาคารเหล่านี้น่าจะมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อปริมาณธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทไทยเป็นหลัก “การแข่งขันจากธนาคารอื่นในภูมิภาคที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในภาคการธนาคารของไทยเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากมีการซื้อกิจการธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ในช่วงปลายปี 2556 โดยธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” สำหรับการเติบโตของสินเชื่อ ได้ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตามระดับสินเชื่อภาคเอกชน (Private-sector) และสินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 154% และ 83% ของจีดีพีตามลำดับ ซึ่งอาจทำให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ฟิทช์ คาดว่าการเติบโตของสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเริ่มทรงตัวและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินลงทุนที่ยังค้างสะสม อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อส่งผลให้การแข่งขันในด้านเงินฝากในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่สภาพคล่องเริ่มมีการตึงตัวมากขึ้นแล้วในปัจจุบัน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ในฐานะโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่ ฟิทช์ มีความเป็นห่วงภาคธนาคารพาณิชย์ในเรื่องคุณภาพของสินเชื่อหากเศรษฐกิจชะลอตัวและเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปนั้น มองว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่ากังวลมากนัก เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีความเข้มแข็ง มีการตั้งสำรองฯ ไว้สูง สามารถรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ “ปัจจุบันความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์อยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีกันสำรองที่สูง คัดกรองลูกหนี้ให้มีคุณภาพมากขึ้น แสดงถึงความแข็งแกร่งของธนาคาร จึงไม่น่าเป็นห่วง” เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องหนี้ครัวเรือน เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายประชานิยมอีกทั้งภาครัฐบาลในขณะนั้นยังอยากให้ธปท.ลดดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เราห่วงการเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่จะปรับตัวสูงขึ้น ต่อมาเมื่อ 2 ปัจจัยดังกล่าวหมดไปแล้ว เราจึงไม่เห็นความเสี่ยงที่น่ากังวล "แม้ภาพของหนี้ครัวเรือนอาจจะดูว่าอยู่ในระดับที่สูง และหลายฝ่ายเริ่มแสดงความห่วงใย แต่เรามีมุมมองว่าหลายฝ่ายให้ความกังวลมากเกินความเป็นจริง และอยากให้คลายความกังวล เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวในอัตราชะลอลง แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้สัดส่วนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจดูชะลอตัวมากขึ้น" ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ปรับมาตรการควบคุมคุณภาพสินเชื่อและให้ความระมัดระวังการสินเชื่อรวมไปถึงภาคประชาชนมีการใช้จ่ายที่ระมัดระวัง หากเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจีดีพีเติบโตขึ้นจะทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลงได้ ซึ่งถ้าหลายฝ่ายกังวลในเรื่องนี้มากเกินไป จะส่งผลกดดันต่อการจับจ่ายของภาคประชาชนให้ชะลอตัวเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจได้ Tags : ฟิทช์ เรทติ้งส์ • ธนาคาร • เครดิต • หนี้ • สินเชื่อ