'ประยุทธ์'กล่อมยักษ์อิเล็กฯ-ญี่ปุ่นชูไทย

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 29 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    นายกฯชวนยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม ในเขตเศรษฐกิจพิเศษรับการเปิดเออีซี

    เล็งตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาร่วมกันพร้อมขอให้ช่วยผลักดันการถ่ายทอดเทคโนโลยีจ้างงานในระดับสูงเพิ่มขึ้น แจงขอเวลาปฏิรูปประเทศให้พัฒนามากขึ้น ด้านประธานกลุ่ม “Nidec” หนุนไทยพัฒนาคนและเทคโนโลยี เผยนักลงทุนญี่ปุ่นกำหนดให้ไทยเป้าหมายอันดับหนึ่งเข้าลงทุน 2-3 ปีข้างหน้า ชี้มีศักยภาพเติบโตมาก ได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งประเทศเชื่อมโยงกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง


    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พบหารือกับ นายชิเงะ โนบุ นางะโมริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Nidec Corporation ประเทศญี่ปุ่น และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการลงทุน (Honorary Investment Advisor-HIA) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงคณะผู้บริหารของกลุ่มบริษัทนิเด็ค ในประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก

    พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง คณะทำงานโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย โดยขอให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นได้พิจารณาจัดตั้งโรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษรวมทั้งเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน ที่ทาง คสช. กำลังดำเนินการผลักดัน เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในขณะนี้

    รวมทั้งได้เชิญชวนให้ภาคธุรกิจญี่ปุ่น มาจัดสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาภูมิภาคในประเทศไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำว่า ความร่วมมือกันในด้านการค้าการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย จะเป็นในลักษณะการสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกัน พัฒนาด้วยความเท่าเทียมเสมอภาคภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ

    ขอเวลาปฏิรูปเดินหน้าประเทศ

    พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ภาคธุรกิจญี่ปุ่นสนับสนุนประเทศไทย ในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ซึ่งคสช.ได้จัดตั้งกองทุนประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น และหวังว่าจากการที่ไทยกับญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าในระดับต้นๆในอนาคตทั้งสองประเทศจะมีมูลค่าการค้าต่อกันเพิ่มขึ้น ทั้งด้านภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยขอให้ทางญี่ปุ่นได้ช่วยสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานในระดับหัวหน้างาน หรือด้านวิชาชีพมากขึ้นกว่าการจ้างแรงงานในระดับล่าง รวมทั้งได้เสนอให้มีความร่วมมือกันในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาร่วมกันในหลายๆด้าน หรือการให้ทุนการศึกษาในวิชาหรือสาขาอาชีพที่เป็นประโยชน์กับการประกอบการ

    ขณะเดียวกัน คสช. จะพยายามปรับปรุงและอำนวยความสะดวกในด้านการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ความรวดเร็วในด้านการติดต่อราชการ การจัดตั้งจุดบริการแบบเบ็ดเสร็จ การอำนวยความสะดวกในการออกหนังสือวีซ่า และการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ภายใต้การให้ความสำคัญในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และด้านสิ่งแวดล้อม

    “ขอเวลาให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาและปฏิรูปตนเอง เพื่อเดินไปข้างหน้าและทัดเทียมกับประชาคมโลก ในห้วงที่ผ่านมา จากการพูดคุยกับกลุ่มธุรกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ต่างยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย ซึ่งนับเป็นความประทับใจและความจริงใจในฐานะมิตรประเทศ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    รับปากขยายลงทุนในไทย

    นายชิเงะ โนบุ นางะโมริ ประธานกลุ่มบริษัท Nidec Corporation ได้กล่าวแสดงความยินดีและประสงค์จะเพิ่มการลงทุนของกลุ่มบริษัทฯในประเทศไทย พร้อมระบุว่าการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาในประเทศ รวมถึงการบ่มเพาะและสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในด้านการผลิต หรือการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยมีความก้าวหน้าและมั่นคง

    ทั้งนี้กลุ่มเครือ Nidec Corporation ยืนยันว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจและพัฒนาธุรกิจในประเทศไทยต่อไปในระยะยาว

    ยันไทยเป้าหมายลงทุนญี่ปุ่น

    นายคาเนทสุกุ มิเกะ รองประธานกรรมการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวในงานสัมมนา "ไทยแลนด์โฟกัส 2014 ปฏิรูปสู่การเติบโตยั่งยืน" ในหัวข้อการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย วานนี้ (28 ส.ค.) ว่า ประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนสำคัญที่สุดของญี่ปุ่นช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมาประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นใกล้ชิดกันมาก การลงทุนของญี่ปุ่นในไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2556

    "ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแม้ว่าญี่ปุ่นจะเข้าไปลงทุนจีนมากถึง 9.9 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่อัตราการลงทุนโดยตรงช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในอาเซียนมีอัตราเติบโตล้ำหน้าเร็วกว่าจีน โดยอยู่ที่ระดับ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 32% เป็นสัดส่วนเอฟดีไอญี่ปุ่นมากที่สุดที่ไหลเข้าไทย ตามด้วยสิงคโปร์ได้ 21% และอินโดนีเซีย 18%"

    เอฟดีไอญี่ปุ่นเข้าไทยมากสุด

    เขากล่าวว่า จากข้อมูลกระทรวงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารของญี่ปุ่น ระบุว่าเอฟดีไอญี่ปุ่นไหลเข้าไทยปัจจุบันมีสัดส่วนมากสุดที่ระดับ 60.7% ของมูลค่าเอฟดีไอในไทยทั้งหมด รองลงมาเป็นของมาเลเซียมีเอฟดีไอญี่ปุ่น 27.7% อินโดนีเซีย 16.5% เวียดนาม 9.2% สิงคโปร์ 7.9%

    "จริงๆแล้วเม็ดเงินลงทุนเอฟดีไอญี่ปุ่นในไทย อาจมากกว่าที่คาดไว้ เพราะบริษัทญี่ปุ่นมักลงทุนผ่านบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปไปตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ทำให้การรายงานตัวเลขเอฟดีไอญี่ปุ่นในไทย อาจไม่ครบถ้วนและอาจสูงกว่านี้"

    ตลาดอาเซียนยังเป็นเป้าหมายลงทุนโดยเฉพาะไทย โดยผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร พบว่าสาเหตุที่ไทยยังเป็นแหล่งลงทุนดึงดูดใจบริษัทญี่ปุ่น คือตลาดมีขนาดใหญ่และศักยภาพเติบโตดี มีบริษัทเป็นลูกค้าของบริษัทญี่ปุ่นอยู่มาก มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเพียงพอ

    "ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นบอกว่าประเทศไทยเป็นตลาดมีขนาดใหญ่ มีศักยภาพขยายตัว กลุ่มซัพพลายเออร์และผู้ซื้อรายใหญ่ตั้งอยู่ สภาพการอยู่อาศัยเหมาะสมกับผู้บริหารของญี่ปุ่น "

    เร่งไทยแก้ไขการเมือง-แรงงาน

    นายมิเกะให้ข้อมูลน่าสนใจว่า การสำรวจของเจโทรในช่วงเดียวกัน พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นกลับยกให้ความเสี่ยงทางการเมืองและปัญหาภาวะแวดล้อมทางสังคม กฎระเบียบและกฎหมาย เป็นปัญหากับความเสี่ยงอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ

    ส่วนปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นเป็นปัญหากับความเสี่ยงอันดับสอง ส่วนความเสี่ยงจากหายนะภัยทางธรรมชาติกับปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเป็นความเสี่ยงอันดับสาม

    ทั้งนี้เขากล่าวถึงปัญหาและความเสี่ยงที่ไทยควรจะแก้ไขโดยเร็วว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทญี่ปุ่นเป็นห่วงมากที่สุด ขณะที่ปัญหาจำนวนประชากรในวัยทำงานของไทยลดลง ทำให้เกิดปัญหาตึงตัวในตลาดแรงงาน และส่งผลให้อัตราค่าจ้างสูงขึ้นนั้น ควรได้รับการแก้ไข นอกเหนือจากปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ

    ไทยได้เปรียบอย่างมากในแง่ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศ เพราะตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทยได้เปรียบหากมีการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สามารถลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ได้

    นายมิเกะ กล่าวว่า ยังมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก สอบถามเรื่องการลงทุนในไทย โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางถึงเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ที่อยากมองหาพันธมิตรในไทย ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยได้ร่วมมือกับบริษัทญี่ปุ่นพัฒนาการผลิตและขยายตัวตลาดของตัวเองได้

    ชี้ตปท.กังวลความต่อเนื่องนโยบาย

    นายจีรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ในฐานะโฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบกับนักลงทุนต่างประเทศของอังกฤษ โดยนักลงทุนได้สอบถามถึงพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยในอนาคตว่าจะมีทิศทางอย่างไร

    "ผู้ว่าธปท.พบกับนักลงทุนจากประเทศอังกฤษ โดยผู้ว่าธปท.ได้ให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุน เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติห่วงในเรื่องของภาพระยะสั้นว่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวทิศทางใด"

    เขากล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความกังวลเรื่องความต่อเนื่องนโยบายของรัฐบาลในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักลงทุนต่างชาติ ต้องการให้ธปท.ประเมินสภาพเศรษฐกิจระยะสั้น จะมีศักยภาพฟื้นตัวได้ดีขนาดไหน ซึ่งธปท.ให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจระยะต่อไป มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยให้มุมมองว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นจังหวะดี ในการทำการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำให้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตดีขึ้น ซึ่งไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ในระยะต่อไปความท้าทายของรัฐบาลคือการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และจะทำอย่างไรให้ต่อเนื่องทางนโยบายเศรษฐกิจ

    Tags : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา • นายกรัฐมนตรี • คสช. • Nidec • ชิเงะ โนบุ นางะโมริ • ญี่ปุ่น • บีโอไอ • เออีซี • ปฏิรูป • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้