ทียูเอฟทุ่มประมูลบัมเบิลบี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 28 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์" รับสนใจเข้าประมูลซื้อบับเบิลบี หวังสร้างผลตอบแทนจากกรลงทุน 25%

    นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) กล่าวว่า กรณีที่มีสำนักข่าวต่างประเทศคาดการณ์ว่าบริษัทจะเข้าประมูลซื้อกิจการบริษัท บัมเบิล บี ฟู้ดส์ ยอมรับว่ามีความสนใจ เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำตลาดปลาทูน่าอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการเข้าประมูลเพื่อซื้อกิจการ บริษัทจะประเมินถึงแนวโน้มผลตอบแทนที่จะได้รับ ราคาที่เหมาะสม และความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่จะเข้าซื้อด้วย ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลในอดีต บริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ 25% ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในประเทศอยู่ที่ 15%

    "บริษัทมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ผู้ขายยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ถามว่าสนใจหรือไม่ ต้องตอบว่าสนใจ เข้าประมูลอยู่แล้ว ส่วนจะได้หรือไม่ได้ เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม แต่ดีลนี้เป็นดีลใหญ่ มองว่าถ้ามีการให้ประมูลจริงก็ต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน ส่วนเรื่องที่มีความกังวลว่า หากบริษัทซื้อมาแล้วจะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% และขัดต่อกฎหมายครอบงำการแข่งขันของสหรัฐ บริษัทไม่มีความกังวล เพราะมีสินค้าภายใต้การบริหารอยู่ 6 หมวด ทำให้สามารถบริหารจัดการได้"

    ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า บริษัท ไลอ้อน แคปปิตอล เตรียมขายบริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ หรือ BBF ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่าและปลาซาร์ดีนรายใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งแบบบรรจุกระป๋องและแบบบรรจุถุง โดยบริษัท ไลอ้อน แคปปิตอลต้องการขายกิจการบริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ ที่ราคา 1.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ บริษัทบัมเบิล บี ฟู้ดส์ รายงานยอดขายปี 2556 ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ และอีบิทด้า 130 ล้านดอลลาร์

    นายธีรพงศ์ กล่าวเพิ่ม หากบริษัทมีโอกาสประมูลซื้อกิจการบริษัท บัมเบิล บี ฟู้ดส์ หรือ กิจการอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่ ฐานเงินทุนของบริษัทก็สามารถรองรับได้ โดย 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีอีบิทด้าอยู่ที่ 5,538 ล้านบาท ทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท เมื่อหักงบลงทุนที่จัดสรรไว้ที่ 3,500 ล้านบาท เงินสำหรับการจ่ายเงินปันผล 5,500 ล้านบาท และเงินชำระคืนเงินกู้ บริษัทจะมีเงินสดเหลือในมือราว 2,000-3,000 ล้านบาท สะท้อนว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะลงทุน

    นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถกู้ธนาคารพาณิชย์ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำ เพียง 0.7-0.8 เท่า

    "เรื่องความกังวลว่า บริษัทจะเพิ่มทุน ผมยืนยันว่าผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้ เพราะการลงทุนของบริษัทแต่ละครั้ง จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับและผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก อาทิ การเข้าซื้อกิจการบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส โฮลดิ้ง เอสเอเอส เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผู้ถือหุ้นเดิมมีไดลูชั่นเอฟเฟคเพียง 9% ขณะที่บริษัทได้มูลค่าเพิ่มกลับมาจำนวนมาก"

    ส่วนภาพรวมธุรกิจปีนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้รวม 4,000 ล้านดอลลาร์ และปี 2558 คาดหวังรายได้ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงคาดการณ์การเติบโตของรายได้ 15% ต่อเนื่อง อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ 8,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 กลยุทธ์สร้างการเติบโตต่อเนื่องมาจากการขยายตลาดผ่านการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาสินค้าใน 6 หมวดให้เติบโตต่อเนื่อง

    สำหรับผลการดำเงินงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,471 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิสูงขึ้น เพราะการขยายตัวของกำไรขั้นต้นจาก 11.7% ในครึ่งปีแรกของปีที่แล้ว เป็น 15.5% ปีนี้ เป็นผลจากการฟื้นตัวของกำไรขั้นต้นของธุรกิจปลาทูน่า กุ้งแช่แข็ง และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง

    บริษัทมียอดขายงวด 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 58,207 ล้านบาท เติบโต 10.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หากพิจารณายอดขายในรูปเงินดอลลาร์ เติบโตขึ้น 2.1% รายได้ที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากหลายปัจจัยหลัก ได้แก่ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ธุรกิจปลาทูน่าในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้น 18.9% ช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ธุรกิจกุ้งที่ยังเติบโตได้ดี แม้ต้องเผชิญปัญหากุ้งขาดแคลนในตลาดโลก เพราะการระบาดโรคอีเอ็มเอส (EMS) รวมไปถึงการเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย

    นอกจากนี้ ปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน มีส่วนช่วยให้กำไรขั้นต้นขยายตัวและส่งผลให้กำไรสุทธิสูงขึ้นในที่สุด

    บริษัทคาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้จะอยู่ที่ 15-16% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 16.9% โดยราคาวัตถุดิบที่ผันผวนค่อนข้างมากในช่วงต้นปีนั้นเริ่มลดลง และเริ่มปรับสู่ระบบปกติ รวมถึงราคาทูน่าที่จะเป็นตัวหลักช่วยหนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 15-16% ที่ผ่านมาราคาทูน่าปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ช่วงก.ค.ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ผ่านมามีราคาเฉลี่ยสูงถึง 1,950 ดอลลาร์ต่อตัน

    Tags : ธีรพงศ์ จันศิริ • ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ • ทียูเอฟ • TUF

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้