การบินไทย เปิดแผนลงทุน5ปีที่เสนอโดยคณะกรรมการชุดก่อนหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูกิจการ..ดังนี้ รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตามแผนแก้ไขปัญหาของการบินไทย ได้ระบุถึงแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี(2557-2561) ไว้ว่า การบินไทย จะยังมีภาระการจัดหาเงินลงทุนจำนวน 46,249 ล้านบาท สำหรับเครื่องบินที่ยังไม่ได้รับมอบตามโครงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 37 ลำ ปี 2554-2560 อีกเป็นจำนวน 28 ลำ แบ่งเป็นการจัดหาโดยการซื้อ 13 ลำ และเช่าดำเนินงาน 15 ลำ นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนจัดหาอะไหล่เครื่องบินและเครื่องยนต์สำรอง การปรับปรุงเก้าอี้ภายในเครื่องบิน A340-600 จำนวน 6 ลำ และ A330-300 จำนวน 3 ลำ การลงทุนซ่อมบำรุงใหญ่เครื่องบิน และการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ คาด5ปีมีอีบิทด้า1.6แสนล้าน ส่วนแผนการเงินนั้น ตามแผนการลงทุนข้างต้น และประมาณการผลดำเนินงานของการบินไทยในช่วง 5 ปี จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา(อีบิทด้า) รวมทั้งสิ้น 160,347 ล้านบาท ซึ่งหากรวมกับเงินกู้เพื่อการจัดหาเครื่องบินจำนวน 50,486 ล้านบาท และเงินสดจากการขายเครื่องบินจำนวน 9,807 ล้านบาท ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายลงทุน รวมถึงภาระการชำระคืนหนี้ การบินไทยจึงมีความต้องการเงินทุนที่จะจัดหาเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 42,000 ล้านบาท เพื่อมารองรับภาวะค่าใช้จ่ายและการลงทุนดังกล่าวให้เพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละปี สำหรับการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมและระยะเร่งด่วนปี 2557-2558 จำนวน 27,000 ล้านบาท นั้น การบินไทยจะพิจารณาจัดหาโดยการกู้ต่อจากกระทรวงการคลัง หรือการเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาว หรือออกตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (ไฮบริด บอนด์) ทั้งนี้ ควรมีเงื่อนไขว่าเป็นเงินกู้ระยะยาวที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป แต่หากได้เกิน 10 ปีขึ้นไป จะช่วยผ่อนคลายภาระทางการเงินและยืดอายุหนี้เฉลี่ยได้นานมากขึ้น ทั้งควรมีช่วงปลอดการชำระหนี้ (Grace Period) เพื่อช่วยเรื่องสภาพคล่องของการบินไทยด้วย ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานและการเงินระยะยาว แม้ว่าการบินไทยจะสามารถดำเนินการตามมาตรการและกลยุทธ์ต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูธุรกิจได้เป็นผลสำเร็จปี 2557 การบินไทยจะยังมีผลดำเนินงานขาดทุนก่อนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้น การด้อยค่าสินทรัพย์ ภาษีเงินได้ และขาดทุนจากการขายเครื่องบิน จำนวนประมาณ 12,756 ล้านบาท ปี2558คาดมีกำไร11ล้าน โดยในปี 2558 จะมีกำไรเล็กน้อยประมาณ 11 ล้านบาท แต่เมื่อรวมการขาดทุนจากการขายเครื่องบินและการด้อยค่าสินทรัพย์แล้ว การบินไทยจะมีผลการขาดทุนสุทธิเท่ากับ 3,623 ล้านบาท และการบินไทยจะเริ่มรับรู้ผลกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ในช่วง 5 ปี อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ยังคงสูงกว่า 2 เท่า ตลอดแผนการแก้ไขปัญหา และการบินไทยจะมีการรักษาสภาพคล่องโดยการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อให้อัตราส่วนเงินสดต่อรายได้ (Cash to Revenue) อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 12% เพื่อให้แผนฟื้นฟู สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามแผนที่จัดทำขึ้น การบินไทยจะทำการกำกับดูแลและเร่งรัดหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด รวมถึงมีการติดตาม ตรวจสอบ และปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รายงานระบุด้วยว่า หากการบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเร่งด่วนแล้วเสร็จ การบินไทยจะดำเนินการกำหนดแนวทางในการรักษาอีบิทด้าให้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทในแต่ละปี แม้ว่าการบินไทยจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติต่างๆ มั่นใจ"บินไทย"มีสภาพคล่องพอ นอกจากนี้ การบินไทยจะพิจารณาปรับโครงสร้างทางการเงินให้แข็งแกร่งขึ้น โดยมีแผนที่จะหาวงเงินหมุนเวียน (Revolving Credit Line) เพื่อให้สัดส่วน Cash to Revenue อยู่ที่ระดับ 15% เพื่อให้การบินไทยมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดต่อธุรกิจสายการเบิน และจากการที่การบินไทยมีทุนเรือนหุ้นที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนภาระหนี้สินทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้มีโครงสร้างทางการเงินในระดับที่มั่นคง การบินไทยอาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาจัดหาเงินทุนด้วยการเพิ่มทุน เพื่อใช้รองรับการลงทุนในการจัดหาเครื่องบินที่ทันสมัยมาทดแทนเครื่องบินที่ใช้งานมานานแล้ว และรองรับการขยายฝูงบินในอนาคต โดยให้มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ระดับ 2 เท่า รวมทั้งจะต้องมีการกำหนดอายุเฉลี่ยของเงินกู้ (Average Loan Life) ให้เหมาะสมต่อการดำเนินงาน การชำระคืนหนี้ และมีค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เหมาะสม เพื่อให้การบินไทยมีความคล่องตัวในการบริหารเงินทุน และสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันทางการเงิน ที่จะให้สินเชื่อและนักลงทุนที่จะลงทุนในตราสารหนี้ของการบินไทย Tags : การบินไทย • แผนลงทุน • หมื่นล้าน • เครื่องบิน • กำไร • หนี้สิน