เปิดแผนฟื้นฟูไอแบงก์ "ชัยวัฒน์"ชี้ไม่เกิน1ปีเคลียร์ทุกปัญหา กระบวนการฟื้นฟูกิจการธนาคารเฉพาะกิจ หรือ “แบงก์รัฐ” 2 แห่ง คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กำลังเดินหน้าเต็มสูบ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” เพื่อกำกับดูแลนโยบายของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ พร้อมส่ง “มืออาชีพ” เข้าไปนั่งเป็นกรรมการ เพื่อสางปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ในส่วนของเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ “สาลินี วังตาล” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานบอร์ด ขณะที่ไอแบงก์ คสช.ส่ง “ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” ผู้บริหารบริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) และอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทยเข้ามานั่งเป็นประธาน ภารกิจเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจการธนาคาร คือ การสำรวจสถานะกิจการของธนาคาร หรือการทำ “ดีลดิลิเจ้นท์” ทั้งสถานะเงินทุน บุคลากร พอร์ตสินเชื่อ รวมถึงจำนวนของหนี้เสีย เพื่อดูว่าปัจจุบันธนาคาร “อ่อนแอ” มากน้อยเพียงใด ปัญหาหลักอยู่ในส่วนไหน เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้หรือไม่ พร้อมๆ กับการเร่งสรรหา “เอ็มดี” หรือกรรมการผู้จัดการของธนาคารที่ยังว่างอยู่ ”ขาดระบบ-การเมืองแทรก”ปัญหาหลัก “ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์” ประธานบอร์ดไอแบงก์ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการแก้ปัญหาของธนาคาร ยังอยู่ในช่วงของการสำรวจสถานะของธนาคาร เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูเสนอต่อซูเปอร์บอร์ด จากที่ดูสถานะของธนาคารในเบื้องต้น พบว่าไอแบงก์ถือเป็นธนาคารที่ดี หากทำให้ดี นอกจากจะสามารถดูแลลูกค้าของธนาคารได้แล้ว ยังสามารถที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆได้ แต่ที่ผ่านมา"ธนาคารโชคไม่ดี ขาดคนที่มีความรู้มาทำงาน การเมืองเข้ามายุ่ง ทำให้การบริหารผิดพลาด" “ผมยังไม่ได้ส่งแผนฟื้นฟูให้กับทางซุปเบอร์บอร์ดเลย ส่วนแผนที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แล้วทางซูเปอร์บอร์ดส่งกลับมานั้น ไม่ใช่แผนที่คณะกรรมการชุดใหม่ทำ เพราะเป็นแผนที่ส่งไปก่อนที่คณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ามาทำงาน” สำหรับปัญหาของธนาคารช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีอยู่ 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. การขาดผู้บริหารระดับสูงที่มีความรู้ในเรื่องกิจการธนาคาร ขณะที่พนักงานของธนาคารจาก 131 สาขา จำนวน 2,373 คน โดยเฉลี่ยประสบการณ์ทำงานยังน้อย เพราะอายุเฉลี่ยของพนักงานอยู่ที่ประมาณ 36 ปี 2. ไม่มีระบบการทำงาน โดยเฉพาะการวางระบบนโยบายสินเชื่อ ทั้งกระบวนการพิจารณา คัดกรองลูกค้า การอนุมัติ และการติดตาม รวมถึงขาดการวางระบบป้องกันความเสี่ยง และ 3. การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว เผยไอแบงก์ต้องเพิ่มทุน เขากล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นจะแก้ไขเรื่องหนี้ และเรื่องทุนของธนาคารก่อน โดยการแยกประเภท จัดกลุ่มของสินเชื่อที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท ว่าเป็นลูกค้าอิสลามจำนวนเท่าใด ลูกค้าที่ไม่ใช่อิสลามเท่าใด แล้วดูว่าทั้ง 2 กลุ่มมีหนี้เสียเท่าไหร่ เพราะการบริหารจัดการหนี้อาจจะไม่เหมือนกัน “การแก้ปัญหาแบงก์รัฐ แก้ไม่ยาก แต่เอาหนี้ออก แต่ในส่วนของไอแบงก์ ก็ไม่ได้ซับซ้อนกว่าธนาคารอื่นๆ แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ เพราะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกกับหลักของศาสนาด้วย เราไม่สามารถบอกได้ว่าจะตัดหนี้เสียขายออกเลยเหมือนกับธนาคารอื่นๆได้ ต้องหาวิธีบริหารจัดการเพื่อลดภาระหนี้ โดยที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา ก็ต้องปรึกษากับทางผู้รู้” ในส่วนของทุนนั้น จะเข้ามาดูเรื่องเงินกองทุนที่ปัจจุบันติดลบอยู่ 2% ผลจากการตั้งสำรองหนี้เสีย การแก้ปัญหาคงจะต้องมีการเพิ่มทุนใส่เข้าไป แต่จะมากน้อยเพียงใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ จนกว่าจะรู้จำนวนหนี้เสียที่แท้จริง นอกจากนี้ยังจะดูเรื่องการบริหารต้นทุนทางการเงินของธนาคาร ซึ่งพบว่าแพงกว่าทุกแบงก์ ทั้งที่ไม่ต้องจ่าย 0.4% ให้กับทางสถาบันประกันเงินฝาก เพราะรัฐบาลค้ำประกัน สำหรับการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวนั้น จะต้องทำเรื่องการวางระบบการทำงาน กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อที่ชัดเจน มีเครดิต โปรดักท์ โปรแกรม กำหนดคุณสมบัติ การคัดกรองลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้การให้สินเชื่อแบบมั่วๆ จากการเมืองเข้ามาไม่ได้ เมื่อมีระบบการทำงานที่ชัดเจน คนทำงานก็ต้องยึดที่ระบบเป็นหลัก ป้องกันนักการเมืองเข้ามาสั่งแบบผิดๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายให้กับธนาคารได้ บอร์ดแบงก์รัฐร่วมแก้หนี้การเมือง ในส่วนของพนักงานนั้น มีนโยบายให้ชะลอการรับพนักงานเพิ่มก่อน เพราะพนักงานที่มีอยู่กว่า 2.3 พันคนนั้น ถือว่ามีจำนวนไม่น้อย สำหรับพนักงานที่มีอยู่ก็จะมาดูถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจ หากมีต้นทุนสูง ก็ต้องหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังให้ทางธนาคารหยุดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ด้วย “ดีลดิลิเจ้นท์ของธนาคารน่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ หลังจากนั้นก็จะวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องเงินทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้เสีย วางระบบการทำงานทั้งหมดของธนาคารให้แล้วเสร็จภายใน 6-12 เดือน” เขากล่าวทิ้งท้ายว่า ธนาคารรัฐมีปัญหาที่เหมือนกันคือ มีการเมืองเข้ามายุ่งกับการทำงาน หรือการให้สินเชื่อ และลูกค้าที่มาขอกู้ก็เป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้นในการจัดการกับลูกค้ากลุ่มนี้ มองว่าธนาคารรัฐทั้งหมดจะต้องร่วมมือกัน โดยอาศัยจังหวะในช่วงนี้ ซึ่งประธานแบงก์รัฐส่วนใหญ่ก็มาจากแบงก์ชาติ พูดคุยกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ เพราะลูกค้าที่มีปัญหาก็เป็นลูกค้าในกลุ่มเดียวกัน Tags : เอสเอ็มอีแบงก์ • ไอแบงก์ • คสช. • ธนาคารอิสลาม • ชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ • เอ็มดี • กรุงเทพธุรกิจ