การเมืองฉุดศก.ไตรมาสแรกวูบ

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สศช.ปรับเป้าจีดีพีเหลือ1.5-2.5%จาก3-4%หลังไตรมาสแรกติดลบ0.6% เหตุการเมืองยืดเยื้อกระทบลงทุนภาครัฐ-เอกชน-ท่องเที่ยว ด้านธปท.คาดไตรมาส 2ฟื้น

    สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกของปี 2557 ติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากการชะลอตัวในไตรมาสแรก ได้ปรับประมาณการจีดีพีในปีนี้ใหม่ จาก 3.0-4.0% เหลือ 1.5-2.5%

    จากตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกและปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของสศช. ถือว่าไม่ต่างจากสำนักวิจัยอื่นที่ประกาศก่อนหน้านั้น โดยปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน ผู้บริโภคและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สศช.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% เหลือ 1.5-2.5%

    เหตุผลหลักในการปรับประมาณการในครั้งนี้ 3 ประการ คือ ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้เดิม ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดไว้เดิม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ จึงส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยฟื้นตัวช้าและราคาส่งออกลดลง และ จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม

    นอกจากนี้ สศช.ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกในปี 2557 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 5-7% เหลือ 3.7%

    ธปท.ระบุประเมินไม่ต่างกัน

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขไตรมาสแรกที่ สศช. ประกาศออกมา หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว 2.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้

    นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกที่ออกมาก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่ ธปท. ได้ประเมินไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธปท. อาจมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้ลงจากเดิมในรายงานนโยบายการเงินเดือนมี.ค. 2557 ได้ประเมินการส่งออกปีนี้ไว้ว่าจะเติบโตที่ 4.5% โดยตัวเลขใหม่ที่ปรับลด คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ สศช. ได้ประเมินไว้ที่ 3.7%

    “ตัวเลขที่ สภาพัฒน์ ประกาศออกมาถือว่าใกล้เคียงกับภาพรวมที่ ธปท. ประเมินไว้ โดยองค์ประกอบหลักทั้งอุปสงค์ในประเทศและอุปสงค์ต่างประเทศ ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ” นางรุ่ง กล่าว

    ชี้การเมืองเป็นปัจจัยหลัก

    สำหรับการหดตัวของเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2557 ปัจจัยหลักมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 ปี 2557 น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากการท่องเที่ยวน่าจะช่วยขับเคลื่อนมากขึ้นหลังมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

    นอกจากนี้ แนวโน้มเครื่องชี้กิจกรรมในประเทศหลายตัวเริ่มทรงตัวในเดือนมี.ค. กล่าวคือ ไม่ได้ทรุดตัวลงต่อ ขณะเดียวกันการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว แม้การฟื้นตัวจะยังเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ยังถือเป็นปัจจัยบวก อย่างไรก็ตามระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยความไม่แน่นอนอยู่มาก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะเป็นอย่างไรคงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย

    ทีดีอาร์ไอห่วงว่างงานพุ่ง

    นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่การพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากจีดีพีในปีนี้ขยายตัวได้เพียง 2-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 2556 ที่จีดีพีขยายตัวได้ 2.9% จะทำให้ตัวเลขการว่างงานของประเทศไทย ณ สิ้นปี 2557 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1-1.2% เพิ่มขึ้นจากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ประกาศในไตรมาสแรกปีนี้ว่าตัวเลขการว่างงานของไทยอยู่ที่ 0.9%

    "คาดว่าในช่วงสิ้นปี 2557 อาจจะมีแรงงานไทยว่างงานสูงถึง 4.5 แสนคน"

    นักวิเคราะห์มองไตรมาส 2 แย่ลง

    นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า สำหรับการประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ที่ออกมาแย่ เป็นไปตามภาวการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และไตรมาส 2 ตัวเลขของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะแย่กว่าไตรมาส 1 เพราะการพูดคุยกับนักธุรกิจหลายรายพบว่าคำสั่งซื้อในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเติบโตกลับมีการชะลอตัว

    "จากการพูดคุยกับนักธุรกิจนั้นพบว่า ภาพของเศรษฐกิจอาจไม่ฟื้นตัวได้ตามที่หลายฝ่ายมอง กำลังซื้อไม่ได้เข้ามาตามที่คาด ไม่ว่ากลุ่มส่งออกที่หลายคนมองว่าดี ก็มีแนวโน้มไม่ดีอยู่ กลุ่มรถยนต์ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ไตรมาส 2 ตัวเลขจีดีพีอาจไม่เติบโตตามที่หลายคนมองไว้แต่อย่างไรก็ตามภาพของตลาดหุ้นน่าจะมีการฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากตลาดหุ้นจะมีการฟื้นตัวก่อนภาคเศรษฐกิจประมาณ 6-9 เดือน เมื่อปัญหาการเมืองจบลง แต่ภาพของเศรษฐกิจมองว่ายังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ซึ่งต้องรอการกระตุ้นของรัฐบาลชุดใหม่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ"

    ซีไอเอ็มบีไทยชี้ดีกว่าคาด

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกที่ สศช. ประกาศออกมาติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าออกมาดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ภาคการส่งออกเมื่อหักลบกับการนำเข้าเป็นบวกค่อนข้างมาก จึงพยุงให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้ติดลบแรงอย่างที่คาดการณ์กันไว้ เพราะว่าเดิมสำนักวิจัยฯ ประเมินว่าจีดีพีไตรมาสแรกปี 2557 อาจติดลบถึง 1.6%

    “ไม่อยากให้มองแค่ตัวเลขที่ติดลบ 0.6% เพราะอาจไม่ได้สะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคตมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลของการส่งออกที่เป็นบวกหักลบกับการนำเข้าที่หดตัวแรง ทำให้ดุลการค้าบวกค่อนข้างมาก ซึ่งการนำเข้าที่หดตัวแรงนั้นสะท้อนถึงการลงทุนที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาจึงเป็นเรื่องทางเทคนิค ในเชิงเศรษฐกิจจึงถือว่ายังมีความเปราะบางอยู่”

    นอกจากนี้ ถ้าดูตัวเลขการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2557 ที่ติดลบ 9.8% ถือเป็นการติดลบที่สูงมากในรอบหลายปี ซึ่งประเด็นนี้สะท้อนถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยที่ยังคงอ่อนแออย่างชัดเจน

    เอชเอสบีซี ชี้พื้นฐานยังแข็งแกร่ง

    เอชเอสบีซี ธนาคารชั้นนำของอังกฤษ ออกบทวิเคราะห์ตัวเลขจีดีพีไทยของสศช.ประกาศออกมา หดตัว 2.1% ในไตรมาสแรกเทียบไตรมาสต่อไตรมาส หรือติดลบ 0.6% ไตรมาสแรกปีนี้เทียบไตรมาสแรกปีก่อนนั้น แย่กว่าที่เอชเอสบีซีคาดไว้ว่าจะติดลบ 1.5% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส

    "แสดงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นจีดีพีหดตัวเกือบ 11% เทียบไตรมาสต่อไตรมาสเนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่"

    เอชเอสบีซี ยังระบุว่าแต่จากตัวเลขพื้นฐานบ่งบอกได้ว่ากิจกรรมภายในประเทศยังไม่เสื่อมถอยมาก อย่างที่เอชเอสบีซีหวาดกลัวว่าจะเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่จากคาดการณ์ของเอชเอสบีซีเรื่องการบริโภค การลงทุนและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ยังคงอ่อนแอมากแบบ

    ส.อ.ท. คาดขยายตัวแค่ 1-1.5%

    นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าภาคเอกชนคาดว่าจีดีพีของไทยในปีนี้น่าจะต่ำกว่าที่สศช.ประเมิน โดยคาดว่าขยายตัวเพียง 1-1.5% เนื่องจากมองว่าอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเมืองรุนแรงและเริ่มมีปัญหาเอ็นพีแอลบ้างแล้ว

    "ถ้ายังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ไปจนถึงสิ้นปี นี้ ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปิดกิจการลงประมาณ 5-10% หรือมีจำนวนที่ปิดกิจการสูงถึง 1-2 แสนราย ของจำนวนทั้งหมดประมาณ 2.7 ล้านราย ซึ่งจะกระทบไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จะมีกำลังซื้อที่ลดลง"

    สำหรับการส่งออกนั้น ส.อ.ท. มองว่า ทั้งปีน่าจะโตเพียง 2-3% ต่ำกว่าเป้าหมายใหม่ของ สศช. ที่ตั้งไว้ 3.7% เนื่องจากในไตรมาส 1 ยอดส่งออกไทย -0.1% โดยคาดว่าในไตรมาส 2-4 ผู้ประกอบการขนาดกลาง และใหญ่จะมุ่งเน้นการส่งออกมากขึ้น เพื่อทดแทนตลาดในประเทศที่หดตัวอย่างรุนแรง จึงทำให้คาดว่ายอดส่งออกในไตรมาสที่เหลือจะโตกว่าไตรมาส 1 ขณะที่อัตราการว่างงาน ยังคงตัวเลขเดิมที่ 1% เพราะอัตราการว่างงานของไทยมีฐานที่ต่ำมาก

    คลังตั้งคณะทำงานดูแลเศรษฐกิจ

    นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่าขณะนี้กระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อทำหน้าที่ในการดูแลและพยุงเศรษฐกิจ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับวิกฤติการเมือง

    "ปลัดกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นประธาน เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจ และหาทางประคับประคองเศรษฐกิจ โดยใช้เครื่องมือที่รัฐมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการเร่งรัดการเบิกจ่าย"เขากล่าว

    ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้ จะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินของรัฐ (SFI) และกรมส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยคณะทำงานชุดนี้ จะมีการประชุมทุกสองสัปดาห์ เพื่อติดตามประเมินผล และปัญหาอุปสรรค ของกลไกของรัฐว่าติดขัดตรงจุดไหน เพื่อเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็ว

    นายสมชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในส่วนที่สามารถเบิกจ่ายได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และการเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เร่งปล่อยสินเชื่อ และติดตามแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสียอย่างใกล้ชิดแล้ว

    ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ อยู่ที่ 2.6% จากที่เคยประเมินว่าปีนี้จะขยายตัว 4-5% เป็นผลจากการเมืองในขณะนี้ ซึ่งหากยืดเยื้อต่อไปอีก อาจทำให้ปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า 2%

    Tags : สศช. • อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้