นักวิเคราะห์ฟันธงศก.ไทยฟื้น"วีเชฟ" จ่อเพิ่มประมาณการปีหน้า บรรดาสำนักวิจัยจากสถาบันการเงิน ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ฟื้นตัว “วีเชฟ” ส่วนใหญ่คงเป้าเติบโตปีนี้ แต่เตรียมปรับเพิ่มประมาณการในปีหน้า รอประเมินนโยบายลงทุนรัฐเริ่มชัดขึ้น ขณะ“ส่งออก-ลงทุน” ส่อฟื้นตัวกว่าคาด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาเติบโต 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่ สศช. ได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 1.5-2% จากเดิมที่ 1.5-2.5% ขณะเดียวกัน ประเมินว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.5-4.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง มั่นใจว่าการฟื้นตัวจะเป็นลักษณะ “วีเชฟ” โดยเชื่อว่าแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกที่น่าจะดีกว่าคาด โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์และข้าว ขณะที่การลงทุนภาครัฐจะเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้น ทำให้การลงทุนโดยรวมเริ่มกลับมา นอกจากนี้ ยอดอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีออกมามากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แบบวีเชฟ ฝ่ายวิจัยของธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.7% จาก 3.5% เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงมากขึ้น หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยได้คาดการณ์เอาไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐซึ่งล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่สำหรับปีหน้า ยังคงประมาณการเติบโตไว้ที่ 6% "สิ่งสำคัญ คือ โมเมนตัม โดยเราคาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงปีหน้า จึงมองว่าแรงขับเคลื่อนตรงนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้อย่างมีนัยยะสำคัญ" น.ส.อุสรากล่าว ซีไอเอ็มบีปรับเป้าจีดีพีใหม่ 4% นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมาถือว่าใกล้เคียงกับที่เราประเมินไว้ ดังนั้นสำนักวิจัยฯ จึงยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ไว้ที่ 1.5% โดยมองว่าช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีในลักษณะตัววี ในส่วนของปีหน้า สำนักวิจัยฯ อยู่ระหว่างพิจารณาปรับประมาณการใหม่ โดยอาจปรับเพิ่มเป็น 4% จากปัจจุบันที่ประเมินการเติบโตในปีหน้าไว้ที่ 3-3.5% โดยปัจจัยที่กำลังติดตามดูในขณะนี้ คือ ความชัดเจนของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งความชัดเจนของโครงการลงทุนต่างๆ สำหรับประเด็นท้าทายคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) มีแผนดำเนินงานจะมีความชัดเจนและต่อเนื่องแค่ไหน เพราะสิ่งเหล่านี้ จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจว่า จะลงทุนตามในทันทีหรือไม่ นายอมรเทพ กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐแม้จะมีความสำคัญแต่มีสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้นหากรัฐไม่สามารถสร้างความชัดเจนถึงความต่อเนื่องของโครงการได้ อาจทำให้ภาคเอกชนไม่กล้าตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่คาดหวังกันไว้ จับตาปัจจัยเสี่ยงการลงทุนภาครัฐ ด้าน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร จำกัด กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยฯ อาจปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าลงเล็กน้อยจากปัจจุบันที่มองว่าจะเติบโตได้ในระดับ 4% ส่วนตัวเลขในปีนี้ยังคงคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.8% “เราเชื่อว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ในระดับ 3-4% เนื่องจากเริ่มเห็นการฟื้นตัวของทั้งการลงทุนและการบริโภคที่เริ่มกลับมาบ้าง รวมทั้งช่วงครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว โดยมีระดับต่ำสุดในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ดังนั้นด้วยฐานที่ต่ำ จึงน่าจะทำให้ช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เติบโตได้ดี และทำให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2% ใกล้เคียงกับตัวเลขที่เราประเมินไว้”นายพิพัฒน์กล่าว ส่วนแนวโน้มปีหน้า มีโอกาสที่จะต่ำกว่าที่เราประเมินไว้ได้เล็กน้อย โดยปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการส่งออกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ความชัดเจนการเมืองมีมากขึ้น นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ยังคงยืนตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้ไว้ที่ 1.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 2-3% และมองว่าการฟื้นตัวจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า “ปีหน้า เราอาจปรับเพิ่มประมาณการเติบโตเป็น 5.3% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะโต 4.5% สาเหตุที่ปรับขึ้นเพราะเชื่อว่าปีนี้ คสช. จะยังคงกฎอัยการศึกเอาไว้เพื่อเสถียรภาพความมั่นคง จึงอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และจะเริ่มดีขึ้นในปีหน้า ขณะเดียวกันความชัดเจนการเมืองที่มีมากขึ้น บวกกับรัฐบาลใหม่มีแผนเร่งการลงทุน จึงเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ดี โดยปัจจัยหนุนเศรษฐกิจในปีหน้า จะมาจากดีมานด์ในประเทศเป็นหลัก”นายกำพลกล่าว คาด 3 นโยบายรัฐบาลใหม่เร่งทำ นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ศูนย์วิเคราะห์ยังคงตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 2% และปีหน้าที่ 4% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ออกมา ไม่แตกต่างจากที่ทางศูนย์วิเคราะห์ได้ประเมินเอาไว้ “เรารอดูนโยบายของภาครัฐหลังจากได้ ครม. ก่อนเพื่อดูว่าจะมีนโยบายอะไรออกมาบ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่าจะมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขใหม่หรือไม่ โดยนโยบายที่เราคาดว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการมี 3 ด้าน คือ กระตุ้นภาคการบริโภคในบางส่วน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรายได้เกษตรกร การลงทุนภาครัฐเพื่อดึงให้เอกชนลงทุนตาม และแผนกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มเติมจากปัจจุบัน”นายเบญจรงค์กล่าว นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ อยู่ระหว่างรอดูตัวเลขการส่งออกของเดือนก.ค.และส.ค. เพื่อพิจารณาว่า ควรปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงหรือไม่ เพราะถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ถือว่าออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ เพียงแต่สาเหตุที่ สศช. ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจาก 1.5-2.5% เป็น 1.5-2% เนื่องจากมองว่า การส่งออกปีนี้จะต่ำกว่าที่คาด และ สศช. เองก็ได้ปรับลดการเติบโตของการส่งออกในปีนี้ลงเหลือ 2% จากเดิมที่ 3.7% “เรายังมองการเติบโตปีนี้ที่ 2.3% บนสมมติฐานการส่งออกที่เติบโต 3% ดังนั้นเราจึงขอดูตัวเลขการส่งออกอีกซัก 2 เดือนก่อนว่า จะออกมาเป็นอย่างไร หลังจากนั้นจึงมาทบทวนว่าควรปรับคาดการณ์ในปีนี้ลงหรือไม่ ส่วนปีหน้าคงยังไม่ปรับเร็วๆ นี้ โดยยืนตัวเลขที่ 4% ซึ่งขอดูความชัดเจนของนโยบายภาครัฐก่อน”นายเชาว์กล่าว Tags : สศช. • อมรเทพ จาวะลา • พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย • กำพล อดิเรกสมบัติ • เบญจรงค์ สุวรรณคีรี • เชาว์ เก่งชน • วีเชฟ • เศรษฐกิจไทย • ฟื้น