ทีโอทีแตก6สายธุรกิจใหม่ หนีขาดทุน9พันล้าน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "ทีโอที"แตกสายธุรกิจใหม่6สาย ปรับแผนงานเข้ากับยุทธศาสตร์ คสช. หวังหนีขาดทุน8,900ล้านบาท

    ภายหลังคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อกฎหมายในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาที่เร่งด่วน ตามที่รัฐวิสาหกิจได้เสนอแผนฟื้นฟูองค์กรไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา

    ซูเปอร์บอร์ดตีกลับแผนฟื้นฟูใหม่ และให้บมจ.ทีโอที ไปจัดเสนอแผนงานฟื้นฟูให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และตัดสายงานธุรกิจให้ดำเนินกิจการเฉพาะที่มีกำไรเท่านั้น

    เดิมทีโอทีสรุปแผนดำเนินการไว้ 4 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) 2.บริการโทรศัพท์มือถือ 3จีที่มีสถานีฐาน 5,320 แห่ง และบริการโทรศัพท์พื้นฐานประจำที่ (ฟิกซ์ ไลน์) 3. บริการเคเบิลใต้น้ำ และ 4.การตั้งบริษัทเสาสถานีฐานโทรคมนาคม (ทาวเวอร์ คัมพะนี)

    แตก6ไลน์สายธุรกิจใหม่

    นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจตามที่มีกำหนดส่งรายละเอียดแผนงานให้ซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจศึกษาแผนงานก่อนส่งให้ สคร. นั้น ได้ถูกปรับเปลี่ยนแผนงานใหม่ โดย สคร. เสนอกลับมาให้ทีโอทีปรับเปลี่ยนกรอบการดำเนินสายธุรกิจตามที่เห็นว่าทีโอทีมีศักยภาพดำเนินธุรกิจและสามารถสร้างกำไรได้

    โดยแผนฟื้นฟูใหม่ ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 2. กลุ่มโครงสร้างเสาโทรคมนาคม 3. กลุ่มงานอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำ 4.กลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ 5. กลุ่มธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) และธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่ (ฟิกซ์ไลน์) และ 6. กลุ่มบริการไอที ไอดีซี และคลาวด์

    "แผนงานที่ สคร. และซูเปอร์บอร์ดได้สั่งให้ทีโอทีเร่งดำเนินการ และให้ปรับแผนใหม่เพื่อให้เข้ากับการบริหารงานตามยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราก็นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่เพื่อขอรับนโยบายจากบอร์ด และรวบรวมเอกสารเสนอซูเปอร์บอร์ดวันที่ 29 ส.ค."

    สั่งเข้มจัดทำดิวดิลิเจ้นซ์

    รายงานข่าวแจ้งว่า นายยงยุทธ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ได้รายงานสถานะแผนยุทธศาสตร์ของทีโอทีให้บอร์ดชุดใหม่ได้รับทราบ ตามนโยบายของ คสช.และเพื่อรับนโยบายของคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ก็ต้องกำหนดทิศทางนโยบายการพลิกฟื้นฟูธุรกิจทีโอที อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไร้ทุจริต

    ทั้งนี้จะต้องเร่งรัดการจ้างที่ปรึกษาทางเงินเพื่อประเมินทรัพย์สิน หนี้สิน และผลประกอบการทั้งหมดในอดีต 5 ปี รวมไปถึงประมาณการใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อทำดิวดิลิเจ้นซ์ให้ครบถ้วนด้านสถานะทางการเงินของทีโอทีอย่างแท้จริง และการรวมคดีข้อพิพาททั้งหมดให้เสร็จโดยเร็ว กำหนดมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย

    เบื้องต้นได้เตรียมข้อมูลผลประกอบการปี 2557 โดย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) มีรายได้ 32,400 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 33,700 ล้านบาท ขาดทุน 1,300 ล้านบาท ส่วนการประมาณการรายได้ทั้งปี(ม.ค.-ธ.ค.) มีรายได้ 57,600 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 66,500 ล้านบาท ขาดทุน 8,900 ล้านบาท สูงกว่าที่เคยตั้งเป้าหมายจะขาดทุน 5,100 ล้านบาท

    ขณะที่ปี 2558 ทีโอทีจะประสบปัญหาการขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางเงิน เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้ต้องนำเงินสดสะสมที่มีอยู่ประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท ออกมาใช้จ่าย และเงินสะสมที่ได้นำไปลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาบริการ ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

    โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ทีโอทียังมีรายได้จากบริการก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังสร้างรายได้ใหม่ทดแทนสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามมาตรา 84 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ไม่ได้ ประกอบกับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จะไม่นำส่งรายได้สัญญาสัมปทาน

    บอร์ดใหม่ถกยาวลุยโปรเจ็คค้าง

    พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ทีโอที ได้เรียกประชุมบอร์ดนัดแรกเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 10.00-15.30 น. โดยยอมรับว่า งานทีโอทีมีความท้าทายบอร์ดทุกคนรู้ดีและจะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

    จากที่ประชุมเรื่องเคเบิลใต้น้ำไปก็เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูที่จะส่งให้ซูเปอร์บอร์ดและหารือกันเรื่องคดีความ สัญญาอื่นๆ ด้วย โดยโครงการแรกที่บอร์ดอนุมัติให้เร่งไปดำเนินการคือ โครงการระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ เพื่อรองรับบริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 5,979.14 ล้านบาท เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการอินเทอร์เน็ตในภูมิภาค

    ทั้งนี้ บอร์ดได้พิจารณาตามข้อเสนอแนะของ คสช. ที่ให้ทีโอทีพิจารณาจัดลำดับความสำคัญว่าจะดำเนินการในเส้นทางใดก่อน โดยให้ลงทุนสร้างเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศใน 2 เส้นทาง ได้แก่ ระบบเอเชีย-แอฟริกา-ยุโรป-1 (เอเออี-1) และระบบเซ้าท์อีสต์ เอเชีย ญี่ปุ่น เคเบิล (เอสเจซี ไทยแลนด์ บรานซ์) เป็นลำดับแรกก่อน

    อย่างไรก็ตามในการประชุมมีมติลงทุนในเส้นทางระบบเออีอี-1 วงเงิน 1,408 ล้านบาท เป็นลำดับแรกก่อน โดยมีเส้นทางผ่านฝรั่งเศส อิตาลี อียิปต์ ศรีลังกา อินเดีย จุดเชื่อมต่อในประเทศไทยได้แก่สตูล และสงขลานอกจากนั้น หากในอนาคตทีโอทีจะมีการร่วมทุนในการดำเนินโครงการใดๆ กับเอกชนขอให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)

    จากแผนในกรอบวงเงินรวม 5,979.14 ล้านบาท ตามที่ คสช. ได้อนุมัติแผนลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของทีโอที ระยะเวลา 3 ปี (2557-2559) แบ่งเป็นการใช้เงินกู้ในการลงทุน 3,289.8 ล้านบาท หรือ 54% ของเงินลงทุนทั้งหมด และเงินรายได้ของทีโอที 2,689.3 ล้านบาท

    ประกอบด้วย 3 เส้นทาง คือ เส้นทางเอเออี-1วงเงิน 1,408 ล้านบาท เส้นทางเซ้าท์อีสต์เอเชีย-มิดเดิล อีสต์ เวสต์เทิร์น ยุโรป 5 วงเงิน 1,376 ล้านบาท และเส้นทางเอสเจซีวงเงิน 2,278 ล้านบาท โดยอีก 2 เส้นทางดังกล่าวยังไม่ได้อนุมัติรอเข้าพิจารณาบอร์ดอีกครั้งหนึ่ง

    Tags : คนร. • รัฐวิสาหกิจ • ทีโอที • สคร. • ยงยุทธ วัฒนสินธุ์ • คสช. • พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้