'เครดิตบูโร'ห่วงหนี้ค้างชำระพุ่ง

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เปิดแผนงานสุรพลเอ็มดีเครดิตบูโรวาระ2หนุนมอนิเตอร์ลูกหนี้ถี่ขึ้นห่วงหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ยอดเบี้ยวหนี้พุ่ง

    เปิดแผนงาน “สุรพล” เอ็มดีเครดิตบูโรวาระ 2 วางเป้า 4 ปีข้างหน้า หนุนสถาบันการเงินมอนิเตอร์ลูกหนี้ถี่ขึ้น จาก 6 เดือนครั้ง เป็นทุกเดือน ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ยอดผิดนัดชำระหนี้พุ่ง พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนตรวจข้อมูลเครดิตบูโร กันหนี้พอกโดยไม่รู้ตัว เตรียมดึงธ.ก.ส.-สยามคูโบต้าลิสซิ่งเป็นสมาชิก

    นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนการดำเนินงานในช่วง 4 ปีข้างหน้าว่า เครดิตบูโรจะมีการส่งเสริมให้ทางสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ มีการทบทวนหรือติดตามข้อมูลของลูกหนี้ หรือ เครดิตรีวิวบ่อยขึ้น เพื่อวิเคราะห์สถานะของลูกค้าว่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ มีการวางแผนการบริหารหนี้ก่อนจะเกิดปัญหา ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีความแข็งแรงมากขึ้น

    โดยที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ของไทยเฉลี่ยเข้ามาดูข้อมูลเครดิตของลูกค้า 6 เดือนครั้ง ธนาคารรัฐเข้ามาดูข้อมูลเฉลี่ยปีละครั้ง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทยเข้ามาดูข้อมูลเฉลี่ย 3 เดือนครั้ง แต่หลังจากที่หนี้สินครัวเรือนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก อัตราการเริ่มค้างชำระหนี้จึงเพิ่มขึ้น สถาบันการเงินจึงควรจะมีการดูข้อมูลบ่อยขึ้น เป็นเดือนละครั้ง

    “สถาบันการเงินส่วนใหญ่จะดูข้อมูลลูกค้าเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณาให้สินเชื่อ ไม่ค่อยมีการติดตามข้อมูล หรือวิเคราะห์ลูกค้าระหว่างทาง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยบริหารลูกหนี้ โดยทางเครดิตบูโรจะมีการขอเข้าพบทางผู้บริหาร หรือคณะกรรมการ (บอร์ด) ของสถาบันการเงินเพื่อชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำเครดิตรีวิว เพราะสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้เริ่มน่าเป็นห่วง”

    ทั้งนี้หนี้ภาคครัวเรือนของไทยได้เพิ่มขึ้นจาก 8.9 ล้านล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 เป็น 9.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากการให้กู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนเงินกู้ของบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น มีการเติบโตจากโครงการรถยนต์คันแรกซึ่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2555 ถึงไตรมาส 2 ปี 2556

    ห่วงบัญชีเริ่มค้างชำระหนี้พุ่ง

    จากข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 พบว่า บัญชีสินเชื่อที่ไม่มีการค้างชำระมีการเติบโตลดลง จากปกติเคยโตประมาณ 10% แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เติบโตเพียง 8% ขณะที่บัญชีหนี้เสียที่เคยอยู่ระดับ 6-7% ค่อยๆ ขยับขึ้นเป็น 10-11% แต่บัญชีที่น่ากังวลคือ บัญชีที่เริ่มค้างชำระ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น โดยเคยปรับขึ้นสูงสุดถึง 28% แล้วค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20% กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่แต่เดิมไม่เคยค้าง ก็เริ่มค้างชำระ 1-2 เดือน แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นหนี้เสีย แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มค้างชำระหนี้มากขึ้น

    เขากล่าวต่อว่า ขณะนี้สถาบันการเงิน หรือธนาคาร ค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถยนต์ เพราะไม่มั่นใจว่าจะสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ ทำให้ในการปล่อยสินเชื่อนั้น ทางธนาคารได้เพิ่มรายได้ขั้นต่ำจาก 1.5 หมื่นบาท เป็น 2-3 หมื่นบาท ดูอายุในการทำงาน ดูภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน ส่วนใหญ่จะต้องไม่เกิน 50%

    ทำให้ในช่วงนี้สถาบันการเงิน หรือธนาคารเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีฐานรายได้มากขึ้น เฉลี่ย 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย เพราะยังมีความสามารถในการก่อหนี้ได้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะ 60% ของรายได้ต้องนำมาใช้หนี้ ต้องหามาตรการช่วยเหลือไม่ให้หันไปหาหนี้นอกระบบ

    ตั้งเป้ายอดดูข้อมูล 2.5 ล้านรายใน 4 ปี

    นอกจากการส่งเสริมให้สถาบันการเงินใช้ข้อมูลเครดิตบูโรในการวิเคราะห์ลูกหนี้มากขึ้น แล้วยังสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเครดิตของตัวเองมากขึ้น เพื่อใช้วางแผนทางการเงิน และตรวจสอบข้อมูลว่ามีหนี้ที่เราไม่ได้ก่อเพิ่มเข้ามาหรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดจากมีการนำเอกสารของตัวเราไปสร้างหนี้ต่างๆไว้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีคนมาดูข้อมูลเครดิตบูโรของตัวเองแล้ว 2.5 แสนราย ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 5 แสนราย แต่ภายใน 4 ปีนี้ ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านราย

    ขณะเดียวกันจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับข้อมูลเครดิตบูโร เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหากมีข้อมูลในเครดิตบูโรทำให้ไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน บางส่วนเป็นเพราะคนทวงหนี้ก็จะนำเครดิตบูโรไปอ้างว่าหากไม่ชำระหนี้ จะเอาข้อมูลเข้าเครดิตบูโร ซึ่งความจริงมีข้อมูลในเครดิตบูโรอยู่แล้ว การอ้างเครดิตบูโรถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

    “เครดิตบูโรวางตัวเองไว้ไม่ใช่แค่ถังข้อมูลที่รอให้คนหยิบไปใช้เท่านั้น แต่เราจะเป็นระบบการเตือนภัยให้กับประเทศ เพราะเราเห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกวัน โดยจะมีการส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนระมัดระวังในการก่อหนี้ มีการเช็คเครดิตของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง”

    ดึงธ.ส.ก.-สยามคูโบต้าลิสซิ่งเป็นสมาชิก

    เขากล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้อยู่ทั้งหมดประมาณ 25.85 ล้านบัญชี จากจำนวนประชากรในวัยทำงานทั้งหมด 35 ล้านคน เพราะลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)ยังไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ จะสมัครเป็นสมาชิกเครดิตบูโร โดยจะส่งบัญชีลูกค้าธนาคารที่เป็นลูกค้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง 4 แสนบัญชีมาก่อน หลังจากนั้นในปี 2558 จะส่งข้อมูลลูกหนี้ทั้งหมด 10 ล้านรายเข้ามา ก็จะทำให้เรามีข้อมูลบัญชีลูกหนี้เพิ่มเป็น 35 ล้านราย นอกจากนี้ทางสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) ก็จะเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย คือ บริษัท สยามคูโบต้าลิสซิ่ง

    Tags : สุรพล โอภาสเสถียร • เครดิตบูโร • สถาบันการเงิน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้