'เบนซ์'เข้มแผนขยายตลาด

หัวข้อกระทู้ ใน 'ยานยนต์' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 25 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "เบนซ์" เข้มแผนขยายตลาด "ออนไลน์-คนดัง" สร้างลูกค้ารุ่นใหม่

    เมอร์เซเดส-เบนซ์ ชื่อนี้สำหรับบ้านเรา อาจจะไม่ใช่แค่ชื่อรถ แต่เหมือนสัญลักษณ์เกี่ยวกับความสำเร็จ ชื่อเสียง ฐานะ ของผู้ที่เป็นเจ้าของ ที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต

    แต่จุดเด่นที่ติดตัวรถตราดาวมาและอาจจะกลายเป็นจุดอ่อนได้ หากไม่มีการปรับตัวที่ดีพอ ก็คือ ภาพของความเป็นรถเถ้าแก่ ซึ่งกลุ่มนี้แม้จะมีกำลังซื้อที่ดีและต่อเนื่อง แต่สักวันหนึ่งก็จะหายไปจากตลาด ดังนั้นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้นำตลาดรถหรูก็คือจะต้องขยายฐานตลาดลงมายังคนวัยหนุ่มสาว กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

    แต่การที่จะเข้าไปขยายฐานตลาด ในยุคที่แข่งมีความแข็งแกร่ง และเติบโตได้ดีนั้น จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือหลายอย่าง ทั้งการตลาด กิจกรรม รวมไปถึงตัวสินค้าเอง

    โชคดีที่ว่า กระแสดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมืองไทย แต่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องประกาศกลยุทธ์ "เมอร์เซเดส-เบนซ์ 2020" เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นกลยุทธ์เกี่ยวกับแนวทางการตลาด และการพัฒนาสินค้า โดยสินค้าสำคัญที่อยู่ในกลยุทธ์ดังกล่าวก็คือ รถคอมแพค เนื่องจากค่ายรถจากสตุทการ์ทมองว่าในระยะ 10 ปี ตลาดคอมแพคจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 6.57 ล้านคัน เป็น 10.62 ล้านคัน ทั่วโลก

    และนั่นก็คือต้นกำเนิดของรถเล็กยุคใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ภายใต้โครงสร้างตัวถังที่เรียกว่า "เอ-แพลทฟอร์ม" ซึ่งจะใช้พัฒนารถขึ้นมา 5 รูปแบบที่แตกต่างกันไป โดยขณะนี้เปิดตัวไปแล้ว 3 ตัวถังคือ เอ-คลาส รถแบบแฮทช์แบ็ค ท้ายตัด ตามมาด้วย ซีแอลเอ ซีดานในรูปแบบคูเป้ และจีแอลเอ รถครอสโอเวอร์

    การเริ่มต้นของเอ-คลาส ยุคใหม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องลืมภาพของเอ-คลาส ยุคเดิม ทิ้งมันไป แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างตลาดใหม่ เป็นการเริ่มต้นที่ไม่มีการต่อยอดมาจากสินค้าเดิม หรือเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นจาก 0 ถึงกับทำให้ซีอีโอ เดมเลอร์ เอจี "ดีทเธอรร์ เซทช์" ต้องออกปากว่า

    "ไม่บ่อยนักหรอกสำหรับวงการรถยนต์ที่ใครสักคนจะมองเห็นแนวทางเริ่มต้นบนกระดาษเปล่าๆ แต่ว่าวิศวกรของเราก็ได้สร้างโอกาสนี้ขึ้นมา"

    การมาของคอมแพคทั้ง 3 รูปแบบตัวถังตั้งแต่ปี 2555 ดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อยในตลาดไทย เพราะว่ายอดขายล่าสุด 5,213 คันในช่วง ม.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย บอกว่าเป็นกลุ่มรถเล็ก 1 ใน 3

    ขณะที่ มาร์ทิน ชูลซ์ รองประธานบริหาร เชื่อว่าจากนี้ไปรถกลุ่มนี้จะมีบทบาทมากขึ้น เพราะตัวเลขที่ได้นั้น ต้องไม่ลืมว่ารถอย่างจีแอลเอ ซึ่งเปิดตัวเป็นรุ่นที่ 3 ในไทย เพิ่งสามารถส่งมอบได้ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง

    เมอร์เซเดส-เบนซ์ ยืนยันว่าตัวรถเดินมาถูกทาง และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แล้ว แต่ขณะเดียวกัน รูปแบบการตลาด ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าเช่นกัน

    ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน การสร้างชื่อเมอร์เซเดส-เบนซ์ในไทย โดยตระกูลวิริยะพันธ์ ผู้บริหารธนบุรีประกอบรถยนต์ จนทำให้รถตราดาวติดตลาดในไทย และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จในชีวิตมีรูปแบบที่แตกต่างไป การเข้าหาลูกค้าแบบถึงตัวเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลในยุคนั้น

    ยุคปัจจุบันการเข้าถึงตัวก็เป็นสิ่งที่ได้ผลเช่นกัน แต่วิธีการอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง สำหรับลูกค้าบางกลุุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ต้องการขยายฐาน นั่นก็คือการใช้ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มากขึ้น เพราะคนยุคนี้สมัยนี้นิยมสื่อสารกันทางโลกออนไลน์

    และนับตั้งแต่เปิดตัว เอ-คลาส เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็เริ่มมี เฟซบุ๊ค ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีแฟนเพจแล้วประมาณ 3 แสนคน และอินสตาแกรมอีกกว่า 9,000 คน

    "แนวทางการทำตลาดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทฯ เตรียมรุกวงการอุตสาหกรรมยานยนต์หรูด้วยการใช้กลยุทธ์ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งหรือการทำตลาดในโลกออนไลน์ผ่านการใช้โซเชียล เน็ตเวิร์คมากขึ้น เนื่องจากมองว่าสื่อช่องทางนี้สามารถสร้างความรู้สึกใกล้ชิดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เมอร์เซเดส-เบนซ์มุ่งให้ความสำคัญอย่างมากในปีนี้” เกรเว่ กล่าว

    นอกจากนั้นยังมีการเริ่มต้นครั้งสำคัญ ก็คือ การมีแบรนด์ แอมบาสเดอร์ เป็นครั้งแรกในไทย โดยเลือก "ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต" เพราะเห็นว่าเป็นผู้มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จทั้งด้านการแสดง และธุรกิจ รวมถึงมีแฟนคลับติดตามในโลกออนไลน์ถึง 2 ล้านคน


    Tags : เมอร์เซเดส-เบนซ์ • ยานยนต์ • ตลาดรถยนต์ • แผน

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้