เมื่อมือถือเป็นมากกว่ามือถือ: รู้จักกับตลาดมือถือหรู

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    เวลาเราพูดถึงโทรศัพท์มือถือแล้ว สิ่งที่เรามักจะนึกถึงคือโทรศัพท์ที่อยู่ในกลุ่มของตลาดทั่วไป (mass) ซึ่งมีหลากหลายราคาตั้งแต่ระดับราคาต่ำมากในหลักร้อย ไปจนถึงในระดับราคาหลักหมื่นต้นไปแตะที่หมื่นกลางก็มี

    อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหนึ่งตลาดสำหรับโทรศัพท์มือถือ และถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง และเรามักจะไม่ค่อยเห็นกันโดยทั่วไป ตลาดเหล่านั้นคือตลาดมือถือหรู ซึ่งราคาของโทรศัพท์ในตลาดเหล่านี้ เริ่มต้นกันที่หลักหมื่นบาทไปจนถึงไม่มีที่สิ้นสุดของราคา เรียกง่ายๆ ว่าเงินมีเท่าไหร่ โทรศัพท์มือถือเหล่านี้ก็มีวางขายครับ

    บทความนี้จะเป็นการแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรู โดยเน้นไปที่แนวคิดคร่าวๆ แล้วก็แนะนำผู้เล่นในตลาดนี้กันครับ

    ทำไมถึงต้อง "มือถือหรู"?: คำอธิบายเชิงทฤษฏีสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์


    ในเชิงทฤษฏีทางสังคมศาสตร์ การบริโภคสินค้าที่มีความหรูหราเหล่านี้ (ไม่จำกัดเฉพาะแต่เพียงมือถือเท่านั้น) มีชื่อเรียกว่า "Conspicuous consumption" หรือแปลภาษาไทยคือ "การบริโภคเพื่อแสดงสถานะ" อันเป็นคำที่ถูกคิดขึ้นโดยนักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน Thorstein Veblen ในหนังสือชื่อ The Theory of the Leisure Class: An Economic Study in the Evolution of Institutions ในปี 1899

    [​IMG]
    Thorstein Veblen นักทฤษฏีสังคมวิทยาชาวอเมริกัน (ภาพจาก Wikipedia)

    อธิบายอย่างง่ายที่สุด การบริโภคเพื่อแสดงสถานะ คือการจ่ายเงินไปเพื่อจัดหาสินค้าหรือบริการที่เป็นของหรูหรา ฟุ่มเฟือย (luxury) เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนถึงสถานะและพลังทางเศรษฐกิจของตัวเอง ไม่ว่าจะโดยรายได้หรือความมั่งคั่งของตัวเองที่สะสมไว้ กล่าวอย่างง่ายก็คือ ใช้วัตถุหรือการบริโภคเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมั่งมีนั่นเอง

    ทฤษฏีของ Veblen แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตอนปลาย ต่อเนื่องมายังศตวรรษที่ 20 ตอนต้น เพราะในช่วงเวลานั้นเกิดกลุ่ม “คนรวยใหม่” (nouveau riche) ที่รวยจากการสะสมของเงินทุนและความร่ำรวย อันเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (เทียบง่ายๆ กับบ้านเราคือช่วงยุคก่อร่างสร้างตัวของบรรดาเศรษฐีชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่ไทยในฐานะคนรวยใหม่ กับเจ้านายขุนนาง ที่เป็นกลุ่มคนรวยเก่า) แต่ทฤษฏีของ Veblen ก็ยังคงปรับใช้ได้ดีในยุคปัจจุบัน นั่นก็เพราะว่าโครงสร้างทางสังคมที่อิงฐานของทุนนิยมในลักษณะของสังคมสมัยใหม่ ทำให้การขยับพื้นที่ของชนชั้นเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ต้องมีโครงสร้างการควบคุมอย่างเช่น ระบบศักดินา เข้ามาเป็นตัวกำกับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนรวยใหม่จึงมีขึ้นได้เสมอนั่นเอง

    สิ่งที่คนรวยใหม่พึงจะกระทำได้ เพื่อขยับฐานะ (หรืออย่างน้อยเพื่อทำให้เป็นที่รู้จัก) หนทางหนึ่งนอกจากการมี “บริวาร” หรือผู้คนในฐานะ “เครื่องใช้ไม้สอย” (ไม่จำเป็นต้องอยู่ในฐานะของทาส แต่อาจมาในรูปของ “สายสัมพันธ์”) คือการแสดงออกโดยผ่านการบริโภคสินค้าหรูหรา ฟุ่มเฟือยเหล่านี้ ในฐานะสิ่งที่สื่ออย่างชัดเจนต่อสายตาของบุคคลภายนอกถึงความร่ำรวย ความซับซ้อนของรสนิยม ในรูปแบบเชิงประจักษ์นั่นเอง

    [​IMG]
    ภาพจาก Trendymen.ru

    เมื่อหันกลับมาพิจารณาในตลาดโทรศัพท์มือถือหรูหราเหล่านี้ ย่อมสามารถบอกได้ว่าโทรศัพท์มือถือในกลุ่มนี้มีสถานะของการเป็น “เครื่องมือแสดงออก” ถึงความร่ำรวยของบรรดาคนร่ำรวยเหล่านี้ ไม่ว่าจะในกลุ่มของคนรวยใหม่ หรือกลุ่มคนรวยเก่าก็ตาม ดังนั้นโทรศัพท์มือถือเหล่า ความหรูหราจึงเป็นประเด็นธงหลัก มากกว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพ และ/หรือความสามารถ เพราะมือถือจะต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถสื่อถึงความร่ำรวยหรือสถานะทางชนชั้นของตัวเองที่สังกัดอยู่

    ตลาดมือถือหรูหราไม่ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้าปี 2000 แต่กลับปรากฏตัวหลังปี 2002 เป็นต้นมา แนวคิดของการสร้างโทรศัพท์มือถือหรูต้องยกให้ Nokia ภายใต้การนำของ Frank Nuovo ซึ่งตอนนั้นเป็นหัวหน้าแผนกออกแบบของโนเกีย สมัยที่ยังไม่ขายส่วนกิจการโทรศัพท์มือถือไปให้ไมโครซอฟท์

    [​IMG]
    Frank Nuovo (ภาพจาก datzing.com-beta.com)

    Nuovo มองว่าไม่มีเหตุผลใดที่ไม่ทำโทรศัพท์มือถือหรูหรือราคาแพงแบบเดียวกับนาฬิกา ถ้าคนรวยสามารถจ่ายเงินไปกับนาฬิกาข้อมือที่แพงมากๆ (เช่น Ulysse Nardin, IWC, Vacheron Constantin, Patek Philippe) ทำไมจะจ่ายเงินกับโทรศัพท์มือถือแบบเดียวกับนาฬิกาไม่ได้บ้าง? สิ่งที่เกิดขึ้นคือการก่อตั้งแผนก Vertu ที่รับผิดชอบกลุ่มของโทรศัพท์มือถือราคาแพง และเปิดตัวสินค้า Vertu Signature ในปี 2002 นับเป็นการเปิดพื้นที่โทรศัพท์มือถือราคาแพงเป็นครั้งแรก

    หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีบริษัทมือถือหรูหน้าใหม่เกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก (เช่น Mobiado ในปี 2004, GRESSO ในปี 2007) สิ่งที่เกิดขึ้นอีกด้านคือ บริษัทแฟชั่นเริ่มหันไปจับมือกับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ เพื่อร่วมกันออกแบบสินค้าใหม่ แล้วแปะยี่ห้อ/แบรนด์ของตัวเองลงไปบนโทรศัพท์ (เช่น LG กับ Prada, Giorgio Armani กับ Samsung, Bang & Olufsen กับ Samsung) และแม้กระทั่งบริษัทด้านดีไซน์ อย่าง Porsche Design ที่เดินเข้าสู่สนามนี้กับ BlackBerry ด้วย

    ขนาดของตลาดและการเติบโต


    โทรศัพท์มือถือกลุ่มนี้มักไม่เปิดเผยตัวเลขหรือแม้กระทั่งยอดขายให้สาธารณะรับรู้ แต่ตัวเลขจากการคาดการณ์ของสำนักวิจัย ABI Research ในปี 2009 ระบุว่ามูลค่าของตลาดนี้มีอยู่ที่ 11,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และอาจจะพุ่งสูงถึง 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2013

    สำหรับประเทศไทย แม้ไม่มีตัวเลขปรากฏอย่างชัดเจน แต่จากรายงานของ Euromonitor ที่เป็นรายงานของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หรูหรา (Luxury Electronic Gadgets) ซึ่งระบุรวมทั้งโทรศัพท์มือถือหรูและเครื่องเล่นเพลง MP3 แบบหรู ระบุว่าในปีที่แล้ว (2013) ตลาดของผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% และมีมูลค่าที่ 90 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,800 ล้านบาท)

    นักวิเคราะห์ Matt Lewis จากบริษัทวิจัยตลาด ARCchart มองว่าตลาดนี้มียอดของการเติบโตสูง เพราะ กำไรต่อหน่วย (margin) สูงมาก ในขณะที่ต้องผลิตเป็นจำนวนที่น้อยกว่ามือถือทั่วไปมาก อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นจำนวนมาก สนใจมาเล่นในตลาดนี้

    อย่างไรก็ตามตลาดนี้ก็ถือว่า “ไม่ง่าย” สำหรับผู้ผลิต เพราะมีอัตราการแข่งขันสูง ทำให้หลายยี่ห้อทำสินค้าออกมาครั้งเดียวแล้วไม่ทำต่ออีก หรือทำได้ไม่นานอย่างที่คิด เช่น Ulysse Nardin ผู้ผลิตนาฬิกาหรูสัญชาติสวิส ที่ออกโทรศัพท์ Ulysse Nardin Chairman ด้วยราคาที่แพงลิบลิ่ว (ประมาณ 170,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5 ล้านบาท หากคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) หรือ Christian Dior ผู้ผลิตสินค้าหรูจากฝรั่งเศส ที่ออกโทรศัพท์อย่าง Dior Phone Touch ออกมา (รุ่นเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 160,000 บาท คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก่อนที่จะไม่ทำต่ออีก อีกกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ LG Prada ซึ่งออกมาได้เพียงสามรุ่นก็เลิกไป

    [​IMG]
    Ulysse Nardin Chairman หนึ่งในโทรศัพท์มือถือหรูที่มีราคาแพงที่สุดของโลก (ภาพจาก Engadget)

    ผู้เล่นในตลาด


    สำหรับผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือถือหรูปัจจุบันมีอยู่มากมาย ทั้งที่เป็นฟีเจอร์โฟน หรือสมาร์ทโฟน แต่ถ้าจะแบ่งให้ชัดเจนสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนหลัก ซึ่งก็คือ


    • ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือหรู ประกอบด้วยบริษัทที่ผลิตมือถือหรูมาตั้งแต่แรก กับผู้ผลิตอุปกรณ์แฟชั่นที่หันมาจับตลาดโทรศัพท์มือถือหรู บทความนี้จะกล่าวถึงบริษัทเหล่านี้ โดยเน้นกลุ่มที่มีผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างต่อเนื่อง (จะไม่กล่าวถึงบริษัทหรือผู้ผลิตที่ออกผลิตภัณฑ์มาได้เพียงรุ่นเดียว แล้วก็เลิกผลิต)


    • ผู้ดัดแปลงโทรศัพท์มือถือ กลุ่มนี้จะเป็นลักษณะที่นำเอาโทรศัพท์มือถือในท้องตลาดที่มีอยู่ มาผ่านกระบวนการบางอย่าง (เช่น ชุบทอง หรือใส่อัญมณี) เพื่อทำให้โทรศัพท์เหล่านั้นมีราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม ส่วนมากมักจะไม่ได้ผลิตหรือออกแบบมือถือด้วยตนเอง (ตัวอย่างเช่น Goldgenie) ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้

    ผู้เล่นที่ผลิตโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง หรือร่วมออกแบบโทรศัพท์และทำมาอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนไม่มากนัก ที่พอจะกล่าวถึงได้ก็มีดังต่อไปนี้

    Vertu


    Vertu เป็นผู้ริเริ่มในการสร้างตลาดนี้ตั้งแต่แรก กำเนิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ Frank Nuovo ระหว่างที่กำลังทำโครงการ Nokia ซีรีส์ 8800 ในปี 1995 ที่อังกฤษ และเริ่มก่อตัวอย่างจริงจังช่วงปี 1998-2000 ก่อนที่จะเปิดตัวด้วย Vertu Signature ในปี 2002 ปัจจุบันมีวางจำหน่ายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

    จุดขายของ Vertu อยู่ที่การเป็นโทรศัพท์ที่ประกอบด้วยมือแบบเดียวกับนาฬิกาที่ประกอบจากมือในประเทศสวิส (เช่น Hublot) กลไกภายใน (เช่นปุ่มกดที่ทำจากทับทิม ซึ่ง Vertu อ้างว่าทนทานกว่า) วัสดุที่หรูกว่า (ใช้หนังแท้) เสียงเรียกเข้าที่เล่นโดยวงดุริยางค์กรุงลอนดอน รวมถึงการบริการเลขาส่วนตัวที่ขึ้นชื่อเรื่องการจัดหาสินค้าและบริการต่างๆ

    ราคาของ Vertu เริ่มต้นที่ประมาณ 200,000 บาท จนไปจบที่หลักล้าน



    Mobiado


    Mobiado เป็นผู้เล่นรายที่สองต่อจาก Vertu ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ที่ประเทศแคนาดา โดยออกแบบโทรศัพท์ด้วยตนเอง รวมถึงซอฟต์แวร์ภายในที่ปรับแต่งเอง แต่ใช้บอร์ดภายในที่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตรายอื่น (เช่น Nokia)

    สิ่งที่ Mobiado เน้นคือเรื่องของวัสดุและการออกแบบ โดยล่าสุด Mobiado ได้ออกรุ่นที่ให้ศิลปินของบริษัท ลงสีจริงบนตัวเครื่องด้วยในชื่อซีรีส์ Professional 3 DC รวมถึงความแม่นยำของการผลิตที่เกิดจากการใช้เครื่องผลิตแบบ CNC ที่เป็นเครื่องจักรในการใช้ผลิตหรือขึ้นรูปชิ้นงานที่เป็นโลหะ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์

    ปัจจุบัน Mobiado มีจำหน่ายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศเวียดนาม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีปรากฏวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการชัดเจน

    ราคาของ Mobiado เริ่มต้นที่ประมาณ 60,000 บาท จนไปจบที่หลักล้านสำหรับรุ่นที่หายากและมีจำนวนการผลิตที่น้อย



    TAG Heuer


    หนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาที่หันมาผลิตโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2008 โดยร่วมมือกับบริษัท ModeLabs ที่เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศฝรั่งเศส ผลิตโทรศัพท์ที่เป็นฟีเจอร์โฟนสำหรับตลาดหรูในชื่อ Meridiist และสมาร์ทโฟนในชื่อ LINK และ Racer (ตามชื่อรุ่นของนาฬิกา)

    จุดขายของ TAG Heuer อยู่ที่การออกแบบ วัสดุ นวัตกรรม (เช่น Meridiist Infinite โทรศัพท์ชาร์จตัวเองได้จากพลังงานแสงอาทิตย์) และแบรนด์ที่เข้มแข็งจากตลาดนาฬิกาหรู โดยปัจจุบัน TAG Heuer จำหน่ายทั่วโลกผ่านร้านค้าของ TAG Heuer ที่ตั้งอยู่ตามประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย

    ราคาของ TAG Heuer เริ่มต้นที่ประมาณ 100,000 บาท ไปจบที่ประมาณแสนกลาง (ประมาณ 400,000 บาท) สำหรับรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนทั้งหมด



    Gresso


    Gresso เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมจากสหรัฐอเมริกา โดยเน้นทำตลาดสำหรับโทรศัพท์มือถือในกลุ่มประเทศรัสเซียและอดีตสหภาพโซเวียต ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปรากฏตัวครั้งแรกในปี 2006 พร้อมกับโทรศัพท์มือถือฟีเจอร์โฟนที่ทำจากไม้ African Blackwood และทองคำ อย่างไรก็ตามประวัติของ Gresso ถือว่าไม่ชัดเจนมากที่สุด เพราะในตอนเปิดตัวปี 2006 นั้น ช่องทางเดียวที่จะติดต่อได้คือผ่านอีเมลเท่านั้น

    ข้อเด่นของ Gresso คล้ายกับ Mobiado คือการออกแบบโทรศัพท์ตัวเอง เลือกใช้วัสดุที่หายากหรือมีราคาสูง ประกอบด้วยมือ รวมไปถึงการปรับแต่งซอฟต์แวร์ด้วย แต่จัดหาวัสดุที่เป็นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทอื่นแทน

    ปัจจุบัน Gresso มีทั้งสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟน (ไม่นับรวมเคส) ราคาอยู่ที่ประมาณ 60,000 บาท ไปจนถึงแสนต้นๆ สำหรับ Radical ที่เป็นสมาร์ทโฟนของบริษัท



    Porsche Design


    Porsche Design เป็นบริษัทลูกของ Porsche AG บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรูจากเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2003 อันเป็นผลจากการรวมกันของบรรดาสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เสริมและเครื่องประดับของ Porsche เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา แว่นตา เป็นต้น

    Porsche Design เริ่มทำตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือมาตั้งแต่ปี 2008 (พร้อมๆ กับ TAG Heuer) ในหมวดสินค้า P’9000 แรกเริ่มจับมือกับ Sagem หนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือในเวลานั้น ผลิตฟีเจอร์โฟนออกมาสองรุ่น คือ P’9521 ที่เป็นโทรศัพท์แบบฝาพับ และ P’9522 ที่เป็นโทรศัพท์ทรงแท่ง (candy bar) ก่อนที่จะหันไปจับมือกับ BlackBerry ออกโทรศัพท์มือถือรุ่น P’9981 ในปี 2011 (ดัดแปลงมาจาก Bold 9900) และ P’9982 (ดัดแปลงมาจาก Z10) ในปี 2013

    จุดเด่นของ Porsche Design อยู่ที่เรื่องของการออกแบบเป็นหลัก ซึ่งถึงแม้ว่าจะใช้วัสดุที่ดีกว่าโทรศัพท์มือถืออื่นในท้องตลาด แต่ก็ไม่ได้ดีมากแบบก้าวกระโดดแต่อย่างไรเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น ทำให้ราคาของโทรศัพท์ Porsche Design มีราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าคู่แข่ง (ประมาณ 60,000 - 70,000 บาท)



    Savelli


    Savelli ถือเป็นหนึ่งในรายล่าสุดที่เข้ามาสู่ตลาดของสมาร์ทโฟนมือถือหรู ตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้ง Alessandro Savelli ซึ่งมาจากตระกูลที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ Ketty Pucci-Sisti Maisonrouge เจ้าแม่แห่งวงการแฟชั่น ผู้เป็นเจ้าของ KM&Co. ที่เป็นบริษัทช่วยเหลือด้านเงินทุนและคำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพในตลาดของสินค้าหรู ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2013

    จุดเด่นของ Savelli อยู่ที่การเป็นโทรศัพท์มือถือหรูที่ออกแบบมาเพื่อ “ผู้หญิง” โดยเฉพาะ ลักษณะของโทรศัพท์มือถือจึงออกแบบมาด้วยรูปแบบที่โค้งมน ผิดจากโทรศัพท์มือถือหรูในตลาดแบรนด์อื่นๆ นอกเหนือจากนั้นคือเรื่องของการใช้วัสดุที่หรูหรา

    อย่างไรก็ดี Savelli ยังคงวางจำหน่ายส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศแถบยุโรป และยังไม่มีแผนวางจำหน่ายนอกเหนือจากยุโรปในขณะนี้ โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักแสนขึ้นไป และไปจบที่หลักสิบล้านในรุ่นพิเศษ



    และนี่ภาพรวมของผู้เล่นรายต่างๆ ของตลาดมือถือหรูนะครับ ผมจะทยอยคัดเลือกบริษัทหรือผู้ผลิตที่น่าสนใจเหล่านี้มานำเสนอในอนาคตต่อไปถ้าหากมีเวลาและโอกาสครับ

    Special Report, Luxury, Market, Mobile, Social
     

แบ่งปันหน้านี้