สัญญาณอันตรายหนี้ครัวเรือนพุ่ง82%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 24 สิงหาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สังเวียนหุ้น : สัญญาณอันตรายหนี้ครัวเรือนพุ่ง 82% สถาบันการเงินแตะเบรกสินเชื่อบุคคล

    นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือ กรุงศรีคอนซูมเมอร์ กล่าวว่า แนวโน้มของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทำให้ธุรกิจสินเชื่อบุคคลเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้บริษัทไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้แล้ว

    ขณะที่กลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ต่อเดือน 10,000-30,000 บาท และกลุ่มลูกค้าผู้ที่มีรายได้ต่อเดือน 50,000-100,000 บาทนั้น กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่เริ่มมีสัดส่วนหนี้สินสูงขึ้นจากการซื้อรถยนต์ในโครงการรถคันแรก ทำให้เราเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อบุคคลอีกครั้ง และมีนโยบายที่จะชะลอการให้สินเชื่อในกลุ่มนี้ลง

    "เราเปรียบสถานการณ์ตอนนี้เหมือนเราขับรถอยู่ เมื่อถึงทางโค้งเราก็ต้องเหยียบเบรกเพื่อชะลอความเร็วของรถให้ช้าลง สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเราอยู่ในทางโค้ง เราต้องชะลอ ถ้าปล่อยไปอาจแหกโค้งได้ ซึ่งเราต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น สินเชื่อบัตรเครดิตไม่มีอะไรน่าห่วง หนี้เสียน้อย แต่สินเชื่อบุคคลเป็นสิ่งที่เราต้องจับตา เราไม่ได้หยุดปล่อยสินเชื่อ แต่เราละเมียดละไมมากขึ้น เราชะลอและเลือกที่จะปล่อยให้กับลูกค้ามากกว่าเดิม" นายฐากร กล่าว

    ปรับลดเป้าสินเชื่อบุคคล

    กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซสฯ กล่าวต่อว่า บริษัทได้เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อบุคคล ด้วยการลดวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น หรือควบคุมวงเงินไว้ที่ระดับเดิม ทำให้ครึ่งแรกของปีจำนวนลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายใหม่ที่เข้ามา อยู่ที่ 70,000 บัญชี จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมี 90,000 บัญชี

    ขณะที่การขยายสินเชื่อใหม่ในช่วงที่ผ่านมายังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท และในช่วงครึ่งหลังของปียังได้ปรับลดเป้าหมายสินเชื่อบุคคลปล่อยใหม่มาอยู่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท

    "สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของลูกค้าสินเชื่อบุคคลควรอยู่ที่ระดับ 40-50% แต่ในขณะนี้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50-60% บางรายอาจปรับขึ้นไปสูงถึง 65% ของรายได้ ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม เรามองว่าภาระหนี้ต่อรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเรื่องที่น่ากลัว บริษัทจึงเพิ่มความเข้มงวดในเงื่อนไขการให้สินเชื่ออีกครั้ง และดูข้อมูลลูกค้าในเครดิตบูโรนานขึ้น หากเรายังคงเป้าหมายสินเชื่อเอาไว้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่เราต้องเร่งปล่อยสินเชื่อ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก"

    เบี้ยวหนี้"ไม่น่าห่วง"

    ส่วนปัญหาการเบี้ยวหนี้นั้น นายฐากร กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีมาก แต่ยังไม่น่าห่วง มาตรการจัดการของเราขณะนี้ คือ หากลูกค้าไม่ชำระเงินตามกำหนดในเดือนแรก ก็มีการโทรศัพท์เพื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถชำระได้ และจะขอให้ชำระภายในวันถัดไปตามที่บริษัทวางไว้ เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระ โดยมองว่าการเบี้ยวหนี้จะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ยอดการเบี้ยวหนี้ย่อมสูงขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่น่ากังวลมากนัก

    อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2552 สินเชื่อบุคคลโตเพิ่มขึ้นอย่าง และเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังสถานการณ์น้ำท่วม โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อส่วนบุคคลโตเฉลี่ยปีละ 20%

    "ดูๆ แล้วทิศทางตลาดสินเชื่อบุคคลคงไม่น่าจะฟื้นตัวในปีหน้า และคงไม่เห็นการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักเหมือนช่วงสามปีเป็นที่ผ่านมาเพราะค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงยังคงกดดันสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ของประชาชน"

    หนี้ครัวเรือนใกล้จุดเสี่ยง

    ด้าน นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 9 แสนล้านบาทภายใน 12 เดือน จากระดับ 8.99 ล้านล้านบาท เป็น 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 82% ของจีดีพี จากระยะอันตรายที่ระดับ 85% โดยระดับที่ 82% ของจีดีพีในปัจจุบันนั้น ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ โดยกลุ่มลูกหนี้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มที่เงินเดือนน้อยกว่า10,000 บาท

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.) ระบุว่า ปี 2552 คนกลุ่มนี้ต้องจ่ายหนี้ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน ขณะที่ปี 2556 ต้องจ่ายหนี้เพิ่มขึ้น 6,100 บาทต่อเดือน ซึ่งน่ากังวลมาก เพราะจะเหลือเงินใช้เพียง 3,900บาท เมื่อหาร 30 วันแล้ว จะเหลือเงินใช้เพียงวันละ 130 บาท จะอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องกู้หนี้นอกระบบเพิ่มไปอีก

    "จำนวนประชากรในปัจจุบันอยู่ที่ 67 ล้านคน เป็นคนทำงาน 40 ล้านคน มีจำนวนคนที่เป็นหนี้และเครดิตบูโรมีข้อมูล 26 ล้านคน มีบัญชีทั้งหมด 72 ล้านบัญชี และมี 1.1 ล้านบัญชีที่เริ่มมียอดค้างชำระ 1-3 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจาก 8.5 แสนบัญชีในอดีต นั่นหมายความว่าคนที่มีการค้างชำระในช่วง 12 เดือนย้อนหลังมีจำนวนมากขึ้น และหากคนกลุ่มนี้เริ่มไปก่อหนี้ใหม่ อาจจะเกิดประเด็นที่น่ากังวลได้" นายสุรพล ระบุ

    เข้มปล่อยกู้ฉุดเอ็นพีแอล

    ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร กล่าวอีกว่า แนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และหนี้ครัวเรือนในอนาคตน่าจะปรับลดลงได้ เพราะปัจจุบันธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ประกอบกับตัวลูกค้าหรือผู้ที่ต้องการสินเชื่อเองก็มีความใส่ใจในการตรวจสุขภาพทางการเงินของตัวเองมากขึ้น จากอดีตที่มีการตรวจสอบเครดิตบูโรอยู่ที่ 5 หมื่นครั้งต่อปี ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นสูงถึง 5 หมื่นครั้งต่อเดือนแล้ว

    ขณะที่ปัญหาเรื่องหนี้สินในปัจจุบัน แม้จะยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ก็ต้องมีการส่งสัญญาณเตือนให้กับลูกหนี้บางกลุ่ม เพื่อป้องกันการเป็นหนี้เสียในอนาคต และบางกลุ่มอาจจะมีการสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นแล้วแต่กรณี

    "หากเรามองปัญหาหนี้ในปัจจุบัน กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท หากเปรียบเป็นสัญญาณไฟก็ประมาณสีส้ม คือเกือบจะเป็นแดงและถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ 10,000-30,000 บาท เรามองว่าเป็นสีเขียวเกือบจะเหลืองแล้ว ส่วนกลุ่มอื่นๆ ยังไม่มีประเด็นน่ากังวล"นายสุรพล ระบุทิ้งท้าย

    Tags : สังเวียน • เครดิตบูโร • หนี้ครัวเรือน • สินเชื่อ

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้