เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ทาง IBM ได้จัดงานเปิดตัวระบบคลาว์ดของตัวเองที่เรียกว่า IBM Bluemix ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดของ IBM ที่เกิดจากยุทธศาสตร์ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา (ใหญ่ที่สุดคงเป็นการเข้าซื้อ SoftLayer) Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารสามท่าน คือ Chris O’Connor รองประธานของ IBM ฝ่าย Cloud and Smarter Infrastructure Strategy and Development, Mitchell Young รองประธานกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ของ IBM ในอาเซียน และคุณเจษฎา ไกรสิงขร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จึงขอนำเอาบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่ให้กับท่านผู้อ่านครับ ผู้บริหาร IBM (จากซ้ายไปขวา: Mitchell Young และ Chris O’Connor) Bluemix และความแตกต่างจากคู่แข่ง ผมเริ่มต้นถามว่า อะไรคือ IBM Bluemix? คำตอบที่ได้จากคุณ Chris คือ Bluemix เป็นบริการคลาวด์แบบหนึ่งที่อนุญาตให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นหรือบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ได้ (เป็น Platform as a Service: PaaS แบบหนึ่ง) และสามารถเผยแพร่รวมถึงให้บริการกับลูกค้าได้ทันทีโดยไม่ต้องยุ่งยาก กล่าวคือ เป็นสภาพแวดล้อมของการพัฒนา (development environment) ที่ทำครบทุกขั้นตอนของการพัฒนาแอพ (เรียกชื่อว่า SDLC: Software Development Life Cycle) อยู่บนคลาวด์ทั้งหมด ซึ่งนั่นหมายความว่ามีทั้งอุปกรณ์การทดสอบและตรวจหาข้อผิดพลาดต่างๆ ด้วย และหากนักพัฒนาต้องการเผยแพร่แอพ ก็สามารถทำได้ทันที ในเชิงโครงสร้างแล้ว Bluemix คือ PaaS ของ IBM ที่ไม่ได้ต่างจาก PaaS ของคู่แข่งอย่าง Microsoft Azure หรือ Google App Engine เพียงแต่ว่านำเอาบริการต่างๆ (เช่น Watson) ผลิตภัณฑ์บางตัว (พวก Middleware หรือฐานข้อมูลอย่าง DB2) และโครงสร้างของ IBM ที่ให้บริการหรือได้มาจากการซื้อกิจการ (เช่น SoftLayer) เข้ามาทำเป็นระบบ PaaS โดยเลือกที่จะวางอยู่บนพื้นฐานของ Cloud Foundry ที่เป็นระบบ open source ในการทำ PaaS ของ VMware (ดูภาพด้านล่าง) ภาพจาก thoughtsoncloud.com (เว็บไซต์ด้านคลาว์ดของ IBM) แต่ความแตกต่างของ IBM Bluemix เมื่อเทียบกับคู่แข่งคือการที่ IBM วางมันในฐานะพื้นที่ซึ่งอิงรูปแบบตลาด (marketplace) ซึ่งนั่นก็แปลว่า มีทั้งบริการของ IBM เอง และเปิดให้คู่แข่งเข้ามาใช้บริการ หรือเปิดให้มี API ของคู่แข่งบน Bluemix ได้ด้วยนั่นเอง ไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้องเรียกใช้บริการของ IBM อย่างเดียว เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น ลองดูวิดีโอด้านล่างครับ Chris เน้นย้ำว่า แนวทางการพัฒนาแอพแบบ on premise หรือการพัฒนาแอพในสถานที่ โดยไม่ได้อิงพื้นฐานกับคลาว์ด เป็นแนวคิดที่เริ่มเก่าและมีต้นทุนสูง เพราะนักพัฒนาจะต้องซื้อองค์ประกอบต่างๆ เช่น Libraries หรือ runtimes ต่างๆ เองทั้งหมด ขณะที่การใช้ Bluemix สิ่งที่ต้องทำคือการดึงบริการต่างๆ เข้ามาใช้งานแทน ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่าย (เพราะไม่ต้องซื้อสิ่งเหล่านี้เอง) ในด้านการลงทุนซื้อของเหล่านี้แล้ว ยังทำให้การพัฒนาแอพต่างๆ คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม แถมยังสร้างบริการใหม่ๆ แล้วเอากลับมาขายบน Bluemix ได้ด้วย ซึ่งสำคัญสำหรับบรรดาสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่เงินยังไม่ค่อยเยอะ เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก และยังระบุว่าการพัฒนาแอพหรือบริการเหล่านี้บนโครงสร้างของ Bluemix ที่ออกแบบมาสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ (enterprise structure) ย่อมทำให้การขยายตัวในอนาคตทำได้ง่ายกว่าด้วย โดยใช้เวลาที่น้อยลงกว่าเดิม กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ในระบบโครงสร้างเดิมที่เป็น IaaS (Infrastructure as a Service) นักพัฒนาที่ต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่น จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นสร้างทุกอย่างใหม่หมดด้วยตนเอง (เพราะสิ่งที่มีเป็นเพียงโครงสร้าง ตัวอย่างเช่น Amazon Web Services) ขณะที่ Bluemix มีทุกอย่างให้พร้อมตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งที่นักพัฒนาต้องทำมีเพียงการพัฒนาแอพเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่าการสร้างทุกอย่างเองตั้งแต่ต้น ความยากง่าย ยุทธศาสตร์ และความร่วมมือของ Bluemix สิ่งที่ผมสงสัยคือ IBM เอาบริการหรือแอพเก่าๆ ของตัวเองขึ้นไปอยู่บน Bluemix ได้ยังไง ซึ่งผมก็ถามทางคุณ Chris โดยได้รับคำตอบว่ามันก็ไม่ง่ายเท่าไหร่ แต่โดยหลักการคือการแยกชั้นของ API ออกจากตัวผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้นเมื่อลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น ฐานข้อมูล DB2 สิ่งที่ลูกค้าเห็นคือ DB2 ในฐานะบริการ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นแล้วยังทำให้ API เหล่านั้น เชื่อมกลับไปยังผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในบริษัทอยู่แล้ว ทำให้ระบบของ Bluemix เป็น Hybrid Cloud ด้วยในตัว ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ สามารถปรับตัวหาคลาว์ดได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกัน ก็ทำให้อายุของผลิตภัณฑ์เก่า อยู่ได้นานขึ้นเช่นกัน คำถามคือช้าไปหรือไม่? เพราะมีคู่แข่งอยู่ในตลาดมานานพอสมควรแล้ว ซึ่งทางคุณ Chris ตอบผมว่าไม่ช้าไปและเป็นจุดที่เหมาะสมมากกว่า สิ่งหนึ่งที่ IBM ทำคือการเข้าซื้อ SoftLayer หนึ่งในบริษัทที่ให้บริการคลาว์ดที่เป็นโครงสร้าง (StaaS: Structure as a Service) และกลายเป็นส่วนสำคัญของ Bluemix ซึ่งปัจจัยที่ระบุว่ามาช้าไปหรือไม่นั้น คุณ Chris ระบุว่าตั้งแต่เปิดตัวสมัยที่ยังเป็น beta นักพัฒนาให้การตอบรับดีมาก รวมถึงภาคการศึกษาและลูกค้าของ IBM ด้วย ดังนั้นความเคลื่อนไหวคราวนี้จึงถือว่าไม่ช้าไปครับ คุณ Chris ยังกล่าวต่อถึงความร่วมมือของ IBM และ Apple ด้วยว่าเป็นส่วนที่จะมาส่งเสริมกัน เพราะ Apple เองพยายามส่งผลิตภัณฑ์ตัวเองเข้าถึงองค์กรขนาดใหญ่เสมอ (วันที่ผมสัมภาษณ์ ผู้บริหารทั้งสองท่านใช้ iPad) ขณะที่ IBM เอง อยู่ในโลกขององค์กรมานานแล้ว และมีบริการระดับองค์กรจำนวนมากที่เป็นฐานให้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดมีอยู่บน Bluemix โดย Apple เอง รวมถึงชุมชนนักพัฒนา สามารถใช้ประโยชน์จากบริการเหล่านี้ได้ แบบเดียวกับที่ Bluemix มี ดังนั้นยุทธศาสตร์ของ Bluemix จึงเป็น “ส่วนเสริม” ไปในตัว มากกว่าที่จะไปขัดแย้งกับความร่วมมืออันนั้น เมื่อถูกถามให้เทียบกับคู่แข่ง คุณ Chris แยกออกมาเป็นสามแบบคร่าวๆ คือ แบบแรกที่ทุกอย่างทำภายในบริษัท (on premise) ทั้งหมด ซึ่งแบบแรกคือบริษัทที่สร้างโซลูชั่นเช่น CRM, ERP ของตัวเอง แบบแรกไม่มีความยืดหยุ่น และแพงมาก ขณะที่ Bluemix ให้ความยืดหยุ่นกว่า ตรงที่ใช้งานบนคลาว์ด ทำให้รวดเร็วกว่าในเชิงการทำงาน การขยายตัวที่ดีกว่า แบบที่สองคือทำซอฟต์แวร์ภายในบริษัทด้วย (on premise) และขยายมายังคลาว์ดด้วย แบบที่สองนี้คุณ Chris มองว่าไม่ได้อิงมาตราฐานเปิด และผูกติดกับระบบของตัวเอง (vendor locked-in) จนเกินไป ทำให้การใช้บริการคู่แข่งที่อาจจะดีกว่าในบางแง่ เป็นไปไม่ได้ แบบที่สามคือสร้างคลาว์ดเพื่อขายแต่คลาว์ดอย่างเดียว แบบที่สามแม้จะดูเปิดที่สุด แต่ Chris กลับมองว่า นักพัฒนากลับไม่มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ซึ่งจะเลือกส่วนประกอบใดๆ ก็ได้มาใช้งานบนคลาว์ดอย่างเสรี Christ ตอบว่า Bluemix ต่างจากแบบที่สองและสาม ตรงที่หลักการของ Bluemix เป็นตลาดเปิดเสรี (marketplace) เมื่อเป็นตลาดเปิดเสรี ผลที่เกิดขึ้นคือใครจะเอาอะไรมาใช้ก็ได้ เพราะพื้นฐานของ Bluemix ทั้งหมด อยู่บนมาตราฐานเปิด ที่เป็นแนวคิดสมัยที่ IBM ผลักดัน Linux เข้าสู่องค์กรขนาดใหญ่ บน Bluemix เองไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ของ IBM อย่างเดียว คุณ Chris ยกตัวอย่างว่า ถ้าลูกค้าจะใช้ DB2 ก็ได้ ยินดี หรือจะใช้ MongoDB ก็ได้ ยินดี ในแง่นี้แปลว่า IBM ยินดีที่จะให้ใช้อะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ทุกอย่างยังอยู่บนโครงสร้างของ IBM Bluemix นั่นเอง ตัวอย่างอีกอันที่ชัดเจนคือ Watson ซึ่งเข้าไปอยู่ใน Bluemix ในฐานะของ “บริการ” เช่นกัน โดยสามารถหาคำตอบจากฐานข้อมูลที่มีได้ในประเด็นต่างๆ อย่างดี เสียงตอบรับจากนักพัฒนา เมื่อถูกถามถึงเสียงตอบรับจากนักพัฒนา คุณ Chris ระบุชัดเจนว่าเสียงตอบรับดีมาก โดยมีนักพัฒนาเป็นจำนวนหลักหมื่น เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และหลายแอพหรือบริการใน Bluemix เอง ก็เริ่มเข้าสู่สถานะ production stage แล้ว สำหรับ ASEAN เอง คุณ Mitchell ตอบผมว่าเสียงตอบรับนั้นดีมากพอๆ กับ ภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคการศึกษาที่ทำอย่างหนัก และความร่วมมือกับลูกค้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนแผนในการส่งเสริม Bluemix ในภูมิภาคนั้น ก็ทำแบบเดียวกับที่ทำในต่างประเทศ แต่จะเน้นไปที่ชุมชนนักพัฒนาของ IBM (มีชื่อเรียกว่า DeveloperWorks) มากกว่า และด้วยธรรมชาติของคลาว์ดเอง ทำให้การออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาด (go to market) ง่ายขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องมีบริษัทซึ่งมีที่ตั้งตามประเทศต่างๆ อีกต่อไป ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งหมด ผมถามว่า ปกติแล้วภูมิภาค ASEAN มักจะช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ ในการเอาเทคโนโลยีไปใช้ เลยถามว่าเจอปัญหาแบบนี้ในกรณีของ Bluemix หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าไม่ โดยคุณ Mitchell ตอบผมว่าไม่เจอ โดยยอดการเป็นสมาชิกนั้นพอๆ กับอเมริกาเหนือ ส่วนคุณ Chris ตอบผมว่าเสียงตอบรับจากทุกประเทศดีมาก ในประเทศไทยเองตอนจัดงานวันเปิดตัว คุณ Chris ยุ่งมากๆ เพราะ Bluemix ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากทั้งลูกค้าภาคเอกชน และองค์กรการศึกษา มีบางมหาวิทยาลัยที่อาจารย์บางคนเริ่มพิจารณาจะสอนเกี่ยวกับคลาว์ด โดยใช้ Bluemix เป็นฐานด้วย เมื่อถามลงลึกถึงเมืองไทย คุณเจษฎาตอบผมว่าในไทยเองเพิ่งจะมี Hackathon ของ Bluemix ไปก่อนการเปิดตัวไม่นานสำหรับนิสิตและนักศึกษา ส่วนสำหรับลูกค้าของ IBM แต่เดิมก็ให้ความสนใจอย่างมาก เพราะลูกค้าไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของ IBM อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ IBM ประเทศไทยทำเป็นพิเศษ คือการร่วมมือกับสถานศึกษาและ Software Park ในการส่งเสริมให้นำ Bluemix ไปใช้งานทั้งในหน่วยงาน และการอบรม/หลักสูตรทางวิชาการมากกว่า ท้ายสุดผมถามว่า ยุทธศาสตร์บางบริษัทอย่างเช่น Cisco ที่พยายามจะเป็นคนกลาง เชื่อมต่อคลาว์ดของทุกๆ คนเข้าด้วยกัน โดนตัวเองทำตัวเป็นตัวกลาง จะเป็นอย่างไรบ้าง ทางคุณ Chris ตอบปิดท้ายว่า ถ้าหากเป็นมาตราฐานแบบเปิด อนุญาตให้ทุกคนแข่งขันได้ และเปิดเผย API อย่างตรงไปตรงมา ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าระบบที่อยู่ภายใต้ผู้ผลิตคนใดคนหนึ่งอย่างแน่นอน ในการสัมภาษณ์เองมีการแสดงตัวอย่าง (demo) ด้วย และผมเองมีโอกาสทดลองใช้งานเพิ่มเติมเพื่อที่จะเข้าใจระบบทั้งหมดด้วย อธิบายอย่างง่ายที่สุด มันคือระบบคลาว์ดที่เป็น PaaS ซึ่งเป็นโซลูชั่นการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ไล่ตั้งแต่ Coding, Testing, Debugging ไปจนถึงการทำ Production บนระบบเดียว ไม่ต้องยุ่งยากโยนไปโยนมาระหว่าง Cloud กับ Development environment โดยมีบริการ (services) ให้ใช้ที่หลากหลาย (บางตัวลากๆ แล้วแก้รายละเอียดนิดเดียวก็จบ แทบไม่ต้องพิมพ์ code เลยด้วยซ้ำ) รวมถึงหลายตัวก็เป็นคู่แข่งกับบริการของ IBM เองด้วย เป้าหมายของ IBM Bluemix ในเชิงธุรกิจ คงอยู่ที่กำไรในการใช้แพลตฟอร์มในฐานะเป็น “โครงสร้าง” ให้กับแอพมากกว่า กล่าวคือ IBM ไม่สนใจว่าบริการหรือแอพที่รันนั้นจะเรียกใช้บริการอะไร API ชุดไหน ประเด็นคือ รับได้หมด และรันให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าใช้บริการของ IBM จะยิ่งดี แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก ข้อดีอย่างหนึ่งจากการเท่าที่ลองใช้ คือนักพัฒนาสามารถแก้ไขทุกอย่างได้แทบจะ realtime นอกจากนั้นคงเป็นเรื่องของ scalability ที่สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มทรัพยากร (resource) ได้อย่างทันท่วงทีครับ ปัญหาก็คือ แม้ IBM จะบอกว่าระบบทั้งหมดเป็นระบบเปิด แต่ที่สุดแล้วทั้งในเชิงของเงื่อนเวลาที่ IBM ถือว่าเริ่มต้นได้ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (Azure, EC2, Google Cloud นี่มากันนานมาแล้ว) รวมถึงว่าทุกคนเองก็ไม่ค่อยจะมั่นใจว่าเปิดจริงหรือไม่ ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนพอสมควร ซึ่งในประเด็นหลังคงเป็นหน้าที่ของ IBM ที่จะดึงดูดให้มี services ใหม่ๆ บน Bluemix ได้มากๆ (ทำนองเดียวกับการสร้างแอพ) รวมถึงพิสูจน์ว่าตัวเองเป็น “กลางพอ” สำหรับระบบนี้ ขอบพระคุณทาง IBM ประเทศไทยสำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ครับ IBM, Cloud Foundry, Cloud Computing, Interview