AIS สร้างหุ่นยนต์ควบคุมผ่าน 5G ลดความเสี่ยงแพทย์ผู้รับมือ COVID-19 ใช้คัดกรอง,...

Discussion in 'เทคโนโลยี' started by iPokz, Apr 16, 2020.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ก่อนหน้านี้ AIS ออกแคมเปญ AIS 5G สู้ภัย COVID-19 ที่จะนำเทคโนโลยีของตัวเองมาช่วยเหลือและดูแลภาคส่วนต่าง ๆ ในช่วงวิกฤติ หนึ่งในนั้นคือการนำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเหลือบุคลากรด้านสาธารณสุข

    วันนี้คุณวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศของ AIS และคุณอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Video Conference เกี่ยวกับบทบาทของ AIS Robotic Lab ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ร่วมกับเครือข่าย 5G มาช่วยเหลือแพทย์ในการรับมือและจัดการกับผู้ป่วย COVID-19 โดยมีการใช้งานจริงแล้ว

    [​IMG]

    AIS Robotic Lab ถูกตั้งขึ้น เพื่อวิจัยและพัฒนาการใช้งานเทคโนโลยี 5G ร่วมกับหุ่นยนต์ในหลายรูปแบบ ผลงานก่อนหน้านี้ของแล็บคือ หุ่นยนต์ผู้ช่วย Alex ที่ร้าน AIS Flagship Store Central World, หุ่นยนต์ Lisa ที่ร้าน AIS Store ภูเก็ต, และ Hugo แขนหุ่นยนต์อัจฉริยะ ทำหน้าที่ตักและหยิบจับป็อปคอร์นที่ภูเก็ตเช่นกัน

    [​IMG]

    บทบาทของ AIS Robotic Lab ครั้งนี้คือการนำเอาหุ่นยนต์ ROC (Robot fOr Care) มีต้นแบบเป็นหุ่น TEMI หุ่นผู้ช่วยอัจฉริยะจากสหรัฐอเมริกามาดัดแปลงติดกล้องอินฟราเรดจับความร้อน โดยซอฟต์แวร์ในหุ่น TEMI สามารถจดจำลักษณะของใบหน้าของผู้คนที่มันพบได้ ทำให้รับรู้ว่าคนที่กำลังหุ่นเดินผ่านหรือเข้ามากดหน้าจอแต่ละครั้งเป็นคนเดิมที่เคยเข้ามาใช้งานหรือไม่ และเมื่อใช้งานร่วมกับกล้องจับความร้อนก็ทำให้รู้ว่าคนที่กำลังสอบถามข้อมูลนี้หุ่นยนต์เคยวัดอุณหภูมิได้ระดับใด

    [​IMG]

    หุ่นยนต์ ROC ตัวนี้ยังมีซอฟต์แวร์ให้แพทย์สามารถปรับแต่งเส้นทางการเดินของหุ่นและ calibrate กล้องจับอุณหภูมิได้ด้วยตนเอง แพทย์สามารถสื่อสารผ่านวิดีโอคอลเพื่อสอบถามอาการหรือให้คำแนะนำกับผู้ป่วย รวมถึงสื่อสารกับช่างเทคนิคของ AIS ได้หากเกิดปัญหาการในใช้งาน

    ROC สามารถเคลื่อนที่ด้วยเซ็นเซอร์ตรวจจับวัตถุได้ด้วยตัวเอง และแพทย์หรือทีมงานยังสามารถมาร์คจุดเพื่อให้ ROC เคลื่อนที่ไปได้ โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์สแกนสถานที่แบบสามมิติเพื่อสร้างแผนผังให้หุ่นเดินเพิ่มความสะดวกให้กับการใช้งานในโรงพยาบาล

    นอกจากกล้องจับความร้อนแล้ว บนตัวหุ่นยังติดตั้งเครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติ มีพื้นที่สำหรับวางชุดยาที่แพทย์จัดให้กับผู้ป่วยในห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) โดยที่บุคคลากรทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปด้วยตัวเอง แต่สามารถสื่อสารผ่านแท็บเล็ตบนเครือข่าย 5G ได้

    [​IMG]

    ปัจจุบัน AIS ติดตั้งเครือข่าย 5G ไปแล้วในโรงพยาบาล 20 แห่งที่รับรักษา COVID-19 โดยเป็นเครือข่ายแยกเฉพาะ ที่มี latency ต่ำและแบนวิดท์สูงสำหรับการใช้งานหุ่น ROC เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาความล่าช้า การใช้เครือข่าย 5G ทำให้การเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์มีเสถียรภาพที่ดี ต่างจากการใช้ Wi-Fi ของโรงพยาบาลที่อาจจะมีช่วงเวลาที่ช่องสัญญาณเต็มโดยควบคุมไม่ได้ ในอนาคตอันใกล้ AIS ยังจะติดตั้งเครือข่าย 5G ให้อีกกว่า 130 โรงพยาบาลในกรุงเทพ และอีก 8 โรงพยาบาลในต่างจังหวัด รวมเป็นโครงข่าย 5G ในโรงพยาบาลกว่า 158 แห่ง

    AIS Robotic Lab สร้าง ROC ขึ้นมาแล้ว 23 ตัว เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาล 22 แห่ง ตอนนี้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว 7 แห่ง และจะทยอยส่งมอบเรื่อยๆ ให้ครบ 23 ตัว ในโรงพยาบาล 22 แห่งภายในเดือนพฤษภาคมนี้

    [​IMG]

    จากการทดลองใช้งาน พบว่า ROC ผลตอบรับที่ดีจากคณะแพทย์ ว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากร และเพิ่มความสะดวกให้กับการตรวจรักษาคนไข้เป็นอย่างมาก และจากความเห็นของแพทย์ ทีม AIS Robotic ได้ติดตั้งถาดวาง สำหรับเครื่องวัดความดันเลือด และความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการตรวจอาการของผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มไปด้วย

    ในอนาคต AIS อาจพัฒนา ROC ให้รองรับ gesture หรือ voice control เพื่อลดการสัมผัส หรือการใช้ machine learning เข้ามาช่วยประมวลผลกล้องวัดอุณหภูมิ เพื่อลดความจำเป็นในการ calibrate ตัวกล้องโดยแพทย์เอง

    [​IMG]

    Topics: AISCOVID-19Interview
     

Share This Page