เบื้องหลังระบบไอทีของทีมรถแข่ง Lotus F1 ใช้คลาวด์, Machine Learning, 3D Printing

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 กันยายน 2015.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    [​IMG]
    ในงานแถลงข่าว Microsoft Dynamics ที่ประเทศสิงคโปร์ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ไมโครซอฟท์เชิญตัวแทนจากทีมรถแข่ง Lotus F1 (ที่ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรและสปอนเซอร์) มาเล่าเบื้องหลังระบบไอทีที่ทีม F1 ใช้กัน ซึ่งเป็นของแปลกที่หาฟังได้ยากครับ

    งานนี้เราได้คุณ Thomas Mayer ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของทีม Lotus F1 (ชื่อเดิมคือ Benetton และ Renault) มาเล่ากระบวนการทำงานของทีม F1 ให้ฟังกันว่าเขาทำงานกันอย่างไร

    [​IMG]

    คุณ Thomas Mayer, COO ของทีม Lotus F1 (คนขวามือในภาพ) เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าในมุมมองของคนทั่วไป ทีมรถแข่ง F1 เน้นไปที่ประสิทธิภาพของรถยนต์ และความสามารถของนักแข่งรถเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วทีม F1 ถือเป็นองค์กรที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี (ไม่ใช่เฉพาะไอที) สูงมาก ทั้งทีมมีคนทำงานมากกว่า 500 คน มากกว่าที่เราเห็นเวลาแข่งรถเยอะเลย

    [​IMG]

    คุณ Mayer บอกว่ารูปแบบการทำงานของทีม F1 (ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล) จะคล้ายกับบริษัทในอุตสาหกรรมการบิน (aerospace) หรืออุตสาหกรรมอาวุธ (defense) ตรงที่ต้องใช้เทคโนโลยีไฮเทค ใช้เทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ และต้องมีกระบวนการผลิต (manufacturing) ที่ทันสมัยเป็นอย่างมาก เพราะวัสดุต่างๆ ที่ใช้ในรถแข่ง F1 ต้องน้ำหนักเบา มีความทนทานสูง ความแตกต่างของส่วนประกอบรถยนต์ย่อมมีผลต่ออันดับการแข่งขัน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กร

    ทีม F1 จึงถือเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ (material science) สูงมากแห่งหนึ่งของโลก และโค้ดของซอฟต์แวร์ที่ใช้ภายในก็สามารถแชร์ร่วมกับบริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้ เพราะรูปแบบการทำงานคล้ายคลึงกัน

    แต่จุดที่ทีม F1 ต่างจากอุตสาหกรรมการบินหรืออาวุธ คือความเร็วในการทำงาน (agility) เพราะรถแข่ง F1 แข่งกันบ่อยทุก 1-2 สัปดาห์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งฝั่งของฮาร์ดแวร์รถยนต์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุม จึงมีรอบการพัฒนาที่เร็วกว่ากันมากๆ เพราะชิ้นส่วนหรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการแข่งสนามนี้ อาจไม่เหมาะสำหรับการใช้งานในสนามถัดไป ตรงนี้ถือเป็นข้อจำกัดของทีม F1 ที่บริษัทผลิตเครื่องบินหรืออาวุธไม่ต้องเจอ

    [​IMG]

    กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทีม F1 ไม่ต่างอะไรกับบริษัทไฮเทคทั่วไป คือต้องมีฝ่ายวิจัย (R&D) ฝ่ายผลิต (production) และต้องมีระบบการดูแลหลังขาย (after sales service) แบบเดียวกับบริษัทไอที เพียงแต่ลูกค้าคือทีมแข่งขัน ซึ่งถือเป็นอีกส่วนงานในองค์กรเดียวกัน

    ทางทีม Lotus F1 ที่คุณ Mayer ดูแลอยู่ มีรอบการพัฒนาต้นแบบ (prototyping) ผลิตภัณฑ์ทุก 2 สัปดาห์ เทคนิคสมัยใหม่อย่างการขึ้นรูปด้วย 3d printer จึงเข้ามาช่วยในการสร้างต้นแบบได้ดีมาก ทางทีมต้องออกแบบชิ้นส่วนใหม่ปีละ 50-100 ครั้ง คุณ Mayer บอกว่าการใช้ไอทีช่วยลดเวลาการทำงานลงได้มาก จากเดิมกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 1 รอบ (นับตั้งแต่ออกแบบ ทดสอบ deploy) อาจใช้เวลานาน 4 สัปดาห์ ก็สามารถลดลงเหลือ 1 สัปดาห์ได้ ตรงนี้ทีมไหนที่มีระบบไอทีดีกว่า ทำงานเร็วกว่า ก็จะได้เปรียบคู่แข่งมากกว่า

    การวิจัยรถแข่งในปัจจุบันนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมาย รถแข่ง F1 หนึ่งคันมีเซ็นเซอร์มากกว่า 2,000 จุด (ส่วนใหญ่อยู่ในเครื่องยนต์) ตัวเลขทุกอย่างต้องตรวจวัดตลอดเวลา เช่น การวัดอุณหภูมิของพื้นสนามเพื่อเปลี่ยนยางให้เหมาะสม

    เมื่อทางทีมต้องรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเซ็นเซอร์เหล่านี้ ย่อมไม่มีทางที่มนุษย์ธรรมดาจะวิเคราะห์ข้อมูลได้ทัน ทางออกคือใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย ตอนนี้ทางทีมเริ่มใช้เทคนิค machine learning เข้ามาช่วยวิเคราะห์แล้ว

    [​IMG]

    คุณ Mayer เล่าว่าในธุรกิจที่แข่งขันสูงแบบ F1 จะมีมุมมองที่ไม่เน้นการประหยัดเงินค่าพัฒนาระบบ เพราะเป้าหมายคือแข่งขันให้ชนะ แต่จะมีมุมมองว่าลงทุนไปแล้วต้องได้ผลลัพธ์กลับมาคุ้มค่าที่สุด ดังนั้นในทีมซอฟต์แวร์ของ Lotus F1 จะมีตัวชี้วัดของการพัฒนาโค้ดเป็น "ระยะเวลาต่อรอบ" (lapse time) ว่าถ้าลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ส่วนนี้เพิ่มเข้ามา ในภาพรวมแล้วจะสามารถลด lapse time ของการแข่งขันลงได้กี่วินาที

    สุดท้าย คุณ Mayer บอกว่าการนำระบบไอทีเข้ามาใช้งานยังช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น เดิมทีทางทีมของเขาต้องแบกตู้แร็คเซิร์ฟเวอร์ไปตามสนามแข่งขันต่างๆ ทั่วโลก แต่ช่วงหลังเขาสามารถรันงานบนคลาวด์ได้โดยตรง โดยเลือก provisioning ตัวโค้ดที่อยู่บนคลาวด์ไปไว้ที่ data center ที่ใกล้สนามแข่งมากที่สุดเพื่อลด latency

    อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการทำแบบนี้ได้ ทางสนามแข่งต้องมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานมากกว่า 1 สายเพื่อทำ redundancy เผื่อว่าเน็ตมีปัญหาระหว่างการแข่งขัน จะได้ยังต่อเชื่อมระบบได้ตลอด ซึ่งตอนนี้สนามแข่งส่วนใหญ่ยังมีเน็ตแค่ 1 สายเท่านั้น ทำให้หลายกรณียังต้องใช้วิธีแบกตู้แร็คไปเหมือนเดิม

    [​IMG]

    ผมมีโอกาสเข้าไปดูในสนามแข่ง F1 ที่สิงคโปร์ด้วย พบว่าตรงข้างๆ ทีมมอนิเตอร์ที่นั่งอยู่ติดขอบสนาม มีตู้แร็คขนาดเล็กวางอยู่จริงๆ ครับ (หลุดกรอบในภาพออกไปนิดหน่อย) ส่วนใน pit หรืออู่ที่อยู่ด้านข้างสนาม ก็นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยมากมายครับ (เผอิญว่าเขาไม่พาเข้าด้านในสุด เลยได้ดูแต่แบบไกลๆ)

    หมายเหตุ: ทีม Lotus F1 ใช้ระบบ Dynamics ERP ของไมโครซอฟท์ และเป็นพาร์ทเนอร์กันหลายเรื่อง ดังจะเห็นว่าไมโครซอฟท์มีโฆษณา Xbox บนตัวถังรถ และดึงนักแข่งทีม F1 ไปเป็นพรีเซนเตอร์เกม Forza 6 ด้วย

    [​IMG]

    F1, Machine Learning, Cloud Computing, 3D Printing, Microsoft, Microsoft Dynamics, Enterprise
     

แบ่งปันหน้านี้