สศค.เผยภาษีธุรกรรมอสังหาฯเดือนก.ย.พุ่ง16.1%

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 27 พฤศจิกายน 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    สศค.เผยยอดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายนพุ่งถึง 16.1%เทียบจากปีก่อน รับข่าวรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีมรดก

    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยในรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนต.ค.ที่ผ่านมาถึงภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเดือนดังกล่าวว่า ได้หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าที่ -4.4% ต่อปี และ -8.6% ต่อเดือน ตามลำดับ

    เนื่องจากในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับภาษีมรดก จึงทำให้มีการเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วและส่งผลให้ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายนขยายตัวสูงที่ 16.1% ต่อปี

    "ขณะนี้ ยอดการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เริ่มทรงตัวในระดับปกติแล้ว หลังจากที่ รัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดก แต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น กระแสข่าวเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์กันมาก ทำให้ยอดการทำธุรกรรมสูงขึ้นผิดปกติ" นายกฤษฎา กล่าว

    สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากยอดขายปูนซิเมนต์ในเดือนต.ค.2557 หดตัวที่-5.7% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ 0.4% ต่อเดือน

    สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เครื่องชี้เศรษฐกิจในเดือนดังกล่าว สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกขยายตัวเช่นกัน ส่วนเศรษฐกิจด้านอุปทาน ภาคเกษตรกรรมชะลอตัว ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

    "เราคาดว่า ในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่า 4% และ จะส่งผลให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ตามที่สศค.คาดการณ์ คือ 1.4%" เขากล่าว

    เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ พบว่า การบริโภคภาคเอกชนในตุลาคม 2557 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนดังกล่าว ที่แม้ว่าจะกลับมาหดตัวที่-1.7% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัว2.8% ต่อเดือน โดยแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 3.3% ต่อปี

    ขณะที่ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าหดตัว -7.5% ต่อปีเช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2557 แม้ว่า ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ -7.6% ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 0.9% ต่อเดือน

    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 จากในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.2เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาน้ำมันแก็สโซฮอล์ในประเทศที่ปรับตัวลดลง ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนลดลง

    ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2557 ปรับตัวดีขึ้น โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์แม้ว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่-13.6% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ 0.8% ต่อเดือน

    สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น โดยพิจารณาจากการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนตุลาคม 2557 พบว่า รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรวมได้จำนวน 367.6 พันล้านบาท ขยายตัว 42.3% ต่อปีเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว -2.3% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยแบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 330 พันล้านบาท ขยายตัว36.7% ต่อปี และรายจ่ายลงทุน 14.8 พันล้านบาท ขยายตัว 449.6% ต่อปี ทั้งนี้ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558ในเดือนแรกเบิกจ่ายได้ 344.8 พันล้านบาท หรือ 13.4% ของวงเงินงบรายจ่ายปี 58

    นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนตุลาคม 2557 กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี และขยายตัว4.7% ต่อเดือนโดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าในหมวดเกษตรกรรม น้ำตาลทราย ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

    นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังส่งสัญญาณหดตัวจากภาคเกษตรกรรม ขณะที่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่ เสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้


    Tags : กฤษฎา จีนะวิจารณะ • สศค. • ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้