วิพากษ์ข้อดี-ข้อเสีย'เงินเฟ้อทั่วไป'

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 6 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    (รายงาน) วิพากษ์ข้อดี-ข้อเสีย"เงินเฟ้อทั่วไป" กำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน

    ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะใช้ "อัตราเงินเฟ้อทั่วไป" กำหนด “เป้าหมาย” นโยบายการเงิน จากเดิมใช้ “อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน” ซึ่งถือว่าเป็นการปรับ"กรอบ"เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งสำคัญ

    แม้ว่า “ข้อดี” และ “ข้อเสีย”ของอัตราเงินเฟ้อทั้งสองประเภท ยังเป็นประเด็นถกเถียงในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ เพราะเงินเฟ้อทั่วไปแม้จะมีข้อดีที่สื่อสารง่าย แต่ยังมีข้อเสียเรื่อง "ความผันผวน"

    เงินเฟ้อทั่วไปกับเงินเฟ้อพื้นฐาน มีข้อแตกต่างกันตรงที่ “เงินเฟ้อทั่วไป” คำนวณจากทุกกลุ่มรายการสินค้า ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม พลังงาน เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การศึกษา และการสันทนาการ ขณะที่ “เงินเฟ้อพื้นฐาน” จะไม่นำสินค้าในกลุ่ม “อาหารสด” และ “พลังงาน” มาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีความผันผวนสูง

    ดังนั้น อัตรา"เงินเฟ้อพื้นฐาน" มักจะต่ำกว่าอัตรา"เงินเฟ้อทั่วไป"

    ทั้งนี้ ธปท. ต้องการเปลี่ยนมาใช้"เงินเฟ้อทั่วไป"ในการดำเนินนโยบาย เพราะมองว่า"เงินเฟ้อทั่วไป" ง่ายต่อการเข้าใจของประชาชน และสะท้อนค่าครองชีพได้ดีกว่า ซึ่งทำให้การสื่อสารนโยบายการเงินของ ธปท. และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีประสิทธิภาพมากกว่า อีกทั้งยังช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในระบบได้มากกว่าด้วย

    กรอบนโยบายใหม่ที่หันมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปนั้น ธปท. ได้เสนอให้ใช้ค่ากลางที่ 3% บวก ลบ ไม่เกิน 1.5% (1.5-4.5%) ซึ่งกรอบเป้าหมายนี้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และใกล้เคียงกับการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนในระยะยาว รวมทั้งเทียบเคียงได้กับค่ากลางของเป้าหมายเดิม

    ธปท. เห็นว่าในปี 2558 เป็นจังหวะดีที่จะเปลี่ยนมาใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไป เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ แรงกดดันเงินเฟ้อจึงอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลใจ ซึ่งจะเอื้อให้การเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น

    ขณะเดียวกัน กนง. มีความเห็นว่า แนวนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของภาครัฐ อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปีหน้าปรับสูงขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในช่วงเป้าหมายที่เสนอ

    กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยเป็น อดีตผู้บริหารส่วนกลยุทธ์ นโยบายการเงิน สายนโยบายการเงินของ ธปท. มองว่า เงินเฟ้อทั้ง 2 ตัว มีข้อดีแตกต่างกัน โดยเงินเฟ้อทั่วไป อาจเข้าใจง่ายกว่า และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป แต่ในเชิงของการทำนโยบายการเงินแล้ว ควบคุมได้ค่อนข้างยาก

    นอกจากนี้โดยปกติแล้ว หากเงินเฟ้อปรับขึ้นเพราะราคาพลังงานที่เพิ่ม กรณีนี้ ธปท. มักไม่ปรับดอกเบี้ยเพื่อดูแล เพราะเป็นเรื่องของอุปทาน ดังนั้นหากราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้นมากๆ จนทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายที่ ธปท. กำหนดไว้ ธปท. จะอธิบายกับสังคมอย่างไรให้ยอมรับได้ และถ้ากรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบายก็ได้

    “ถ้าเงินเฟ้อออกนอกเป้าหมายอยู่บ่อยๆ แล้วแบงก์ชาติต้องคอยบอกว่า เป็นเพราะราคาน้ำมัน ครั้งแรกๆ คนอาจจะเข้าใจได้ แต่ถ้าบ่อยครั้งคนก็จะเริ่มสับสน ยิ่งถ้า แบงก์ชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า เขาดูเงินเฟ้อพื้นฐานประกอบด้วย สุดท้ายคนก็จะหันมาตั้งคำถามกลับว่า แล้วทำไมแบงก์ชาติถึงไม่ใช้กรอบเงินเฟ้อพื้นฐานในการกำหนดนโยบาย”

    กอบศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก มักจะดูเงินเฟ้อทั่วไปกับเงินเฟ้อพื้นฐานประกอบกัน แต่สาเหตุที่ทั่วโลกใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายเพราะ ตระกร้าเงินเฟ้อที่คำนวณจากราคาพลังงานบวกกับราคาอาหารสดไม่ได้มีสัดส่วนที่มากเหมือนของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยที่ 20% เศษ

    “แม้ทั่วโลกจะใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการทำนโยบายการเงิน แต่เราไม่จำเป็นต้องทำตามเขาก็ได้ เพราะแบงก์ชาติเองก็รู้ว่า หากเงินเฟ้อมาจากน้ำมันเขาก็ไม่ทำนโยบาย และปัจจุบันตระกร้าเงินเฟ้อเรามีสัดส่วนของราคาพลังงานบวกกับราคาอาหารสดคิดเป็นกว่า 20% ของตระกร้ารวม”

    ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “กอบศักดิ์” มองว่า การปรับมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินนโยบาย อาจจะไม่ใช่ “วิน-วิน” ทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องคิดให้รอบคอบว่า ถ้าปรับมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปแล้ว ราคาพลังงานกลับมาเพิ่มสูงขึ้น จนเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย ธปท.จะสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างไร และถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้การสื่อความในการดำเนินนโยบายการเงินขาดประสิทธิภาพได้ โดยเฉพาะเวลานี้ที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฎิรูปราคาพลังงาน

    ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด บอกว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ ธปท. ที่ปรับจาก “เงินเฟ้อพื้นฐาน” มาใช้ “เงินเฟ้อทั่วไป” ในการทำนโยบายการเงิน โดยเงินเฟ้อทั่วไปมีข้อดีตรงที่เข้าใจง่าย และยังสื่อสารกับสาธารณชนได้ง่ายกว่า

    อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า เงินเฟ้อทั่วไป มีความเสี่ยงตรงที่รวมราคาพลังงานและอาหารสดเข้าไปด้วย ดังนั้นความผันผวนจึงมีมากกว่า โดยเฉพาะหากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นมากๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายได้

    “คงต้องมาดีเบตกันว่าดีหรือไม่ เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเข้าใจง่าย แต่ก็มีประเด็นเช่นกันว่า ในกรณีที่ราคาพลังงานปรับขึ้นไปมากๆ จนทำให้เงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย แบงก์ชาติจะอธิบายกับสาธารณชนอย่างไร แต่หากคิดว่าประเด็นนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อย ก็ไม่น่าจะมีปัญหา”

    พิพัฒน์ บอกด้วยว่า ในอดีตช่วงปี 2550 ซึ่งราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะนั้นเงินเฟ้อปรับขึ้นไปกว่า 5-6% สิ่งที่ ธปท. ดำเนินการในขณะนั้น คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานในขณะนั้นยังไม่ได้หลุดกรอบ เพียงแต่ ธปท. อาจมองว่าจะมีผลกระทบรอบสองที่ทำให้เงินเฟ้อมีความเสี่ยงว่าจะเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อปรับมาใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินนโยบาย ก็คงต้องจับตาดูว่าธปท.จะมีการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเงินเฟ้ออย่างไร

    ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เห็นด้วยที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินนโยบาย เพราะช่วยสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงมากกว่า เพียงแต่มีข้อเสียตรงที่ความผันผวนก็มีมากกว่าด้วย

    อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การทำนโยบายการเงินให้ได้ประสิทธิภาพที่มากขึ้น ควรต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องเงินเฟ้อประกอบด้วย เช่น พิจารณาถึงทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย หรือการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท

    ด้าน ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและวางแผน ธนาคารเกียรตินาคิน มองว่า เรื่องนี้คงต้องชั่งน้ำหนักถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ และควรมองถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะการทำนโยบายการเงินที่ดีต้องไม่มองที่เงินเฟ้อเพียงปัจจัยเดียว

    สำหรับประเด็นที่ ปิยศักดิ์ เป็นห่วง คือ หากเปลี่ยนมาใช้เงินเฟ้อทั่วไปในการดำเนินนโยบายแล้ว อาจทำให้ดอกเบี้ยมีการเหวี่ยงตัวขึ้นลงได้ เพราะโดยพื้นฐานของเงินเฟ้อทั่วไปจะค่อนข้างผันผวนมากกว่าเงินเฟ้อพื้นฐาน

    "เป็นประเด็นที่ ธปท. ต้องพิจารณาให้ดี"

    Tags : เงินเฟ้อ • เป้าหมาย • นโยบายการเงิน • ผันผวน • พลังงาน • ธปท. • กอบศักดิ์ ภูตระกูล • พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย • อมรเทพ จาวะลา • ปิยศักดิ์ มานะสันต์

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้