ธปท.จับตาทุนเคลื่อนย้ายรับมือ'อีซีบี'อัดฉีดคิวอี

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 4 ตุลาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    แบงก์ชาติจับตาทุนเคลื่อนย้ายใกล้ชิด หลังอีซีบีประกาศมาตรการ"คิวอี" ขณะบาทอ่อนค่าตามค่าเงินภูมิภาค

    นายจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และมีมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบยังขาดความชัดเจนในเรื่องวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำให้ตลาดเริ่มไม่แน่ใจเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าวว่าจะมีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน

    ทั้งนี้ อีซีบี ประกาศว่า จะเริ่มซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อคุณภาพ(Covered bonds) จากธนาคารพาณิชย์ในช่วงกลางเดือนต.ค.นี้ และจะซื้อตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน(Asset Backed Securities) ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน

    “ถ้าดูภาพใหญ่ของตลาดเงินทั่วโลกยังไม่ได้เปลี่ยน แต่รายละเอียดของมาตรการที่อีซีบีออกมายังคงต้องติดตาม ซึ่งแบงก์ชาติเองก็ติดตามดูผลกระทบในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดว่าเป็นอย่างไร” นายจิรเทพ กล่าว

    ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนค่าลงเล็กน้อยประมาณ 0.6% โดยเป็นการอ่อนค่าตามภูมิภาค และมีค่าเฉลี่ยอยู่ตรงกลางของภูมิภาค ซึ่งปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบ ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยในประเทศอาจมีบ้างแต่ไม่ได้มากนัก

    “จะเห็นว่าเงินบาทอยู่ในทิศทางทยอยอ่อนค่า จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็ง หลังเศรษฐกิจเขาออกมาเติบโตได้ดี ขณะที่เงินยูโรเองก็ยังอ่อนค่าลง” นายจิรเทพ กล่าว

    คงเครดิตประเทศสะท้อนพื้นฐานแกร่ง

    นายจิรเทพ กล่าวว่า กรณี ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ BBB+ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ฟิทช์ ยังคงมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยระยะยาวอยู่ในระดับแข็งแกร่ง และมองว่าปัจจัยระยะสั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมากนัก

    นอกจาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ แล้ว จะเห็นว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับเรทติ้งต่างๆ ยังมีมุมมองที่ดีต่อพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของไทยไม่ได้ถูกกระทบจากปัญหาการเมือง และหลังจากที่การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับสถานะด้านอื่นๆ เช่น เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ความยืดหยุ่นต่อการรองรับภาวะช็อก รวมทั้งหนี้รัฐบาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ทั้ง ฟิทช์ และบริษัทจัดเรทติ้งรายอื่นๆ คงอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยไว้

    “สถาบันจัดอันดับเรทติ้ง 3 ค่ายยักษ์ ยังคงแนวโน้มเรทติ้งไทยมีเสถียรภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศที่มั่นคง และมีเสถียรภาพ ซึ่งทำให้สถาบันเรทติ้งประเมินได้ว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมให้ตลาดการเงินไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ” นายจิรเทพ กล่าว

    โฆษกธปท. กล่าวด้วยว่า ความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลและธปท.ในช่วงที่ผ่านมา พบว่านักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างดี โดยมียอดจองซื้อเข้ามามากกว่าวงเงินที่เสนอขายประมาณ 1.5-2 เท่า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

    ธปท.ร่วมโรดโชว์กับเอกชนที่สหรัฐ

    นอกจากนี้ นายจิรเทพ ยังกล่าวด้วยว่าในวันที่ 8 ต.ค.นี้ ธปท. มีแผนเดินทางไปนำเสนอข้อมูลการลงทุน(โรดโชว์) ร่วมกับทางรัฐบาลและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งการโรดโชว์ครั้งนี้ ธปท. จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปบอกเล่าให้กับนักลงทุนต่างประเทศได้รับทราบด้วย

    สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ ธปท. ประเมินไว้ว่าจะเติบโตประมาณ 1.5% นั้น แม้เป็นระดับที่ยังต่ำกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ถูกผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน และในปีหน้า ธปท. ก็ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.8% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ และเริ่มใกล้เคียงกับศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวมจึงไม่น่ากังวล
    'เครดิต สวิส'หั่นเป้าจีดีพีเหลือ0.9%

    บทวิเคราะห์ เครดิต สวิส วาณิชธนกิจชั้นนำของยุโรป ระบุว่าบริษัทได้ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ลงเหลือ 0.9% จากเดิมให้ไว้ 1.1% เป็นผลการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญช่วงครึ่งปีหลังยังซบเซา การฟื้นตัวของการส่งออกไทยช่วง 6 เดือนข้างหน้าจะอยู่ระดับปานกลาง และความเสี่ยงขาลงสำหรับเศรษฐกิจไทยมีอยู่

    "การปรับลดจีดีพีไทยปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคาดการณ์ที่ว่าการการส่งออกช่วง 6 เดือนข้างหน้าฟื้นตัวปานกลาง หากไม่มีสิ่งใดทำให้แปลกใจหรือช่วยเศรษฐกิจเป็นขาขึ้นได้ และมีความเสี่ยงขาลงที่มีผลต่อคาดการณ์ของเรา การปรับลดจีดีพีไทยอาจมากกว่านี้"

    ปรับเพิ่มจีดีพีปีหน้าโต4.5%

    ส่วนปีหน้าเครดิต สวิส ปรับเพิ่มจีดีพีไทยเป็น 4.5% จากเดิมให้ไว้ 3.9% เนื่องจากประเมินการท่องเที่ยวฟื้นตัวเป็นสำคัญ ในภาวะการส่งออกขยายได้น้อยลง บวกกับฐานการเติบโตในปีนี้ต่ำเศรษฐกิจขยายตัวอ่อนแอ การเมืองมีเสถียรภาพดีขึ้นควรช่วยให้การส่งออกปีหน้าขยายตัวได้ 15%-20% แม้ว่ายังมีการใช้กฎอัยการศึกอยู่ก็ตาม ส่วนนี้จะช่วยให้จีดีพีโตได้อีก 1.5%-2% ในทางตรงกันข้ามการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังเป็นที่จับตาว่าจะขยายตัวได้น้อย การบริโภคภาคเอกชนจะโตต่ำกว่า3% ผลจากนโยบายการคลังล่าช้า ราคาโภคภัณฑ์ไม่ดี และภาระหนี้ภาคครัวเรือนสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

    "บริษัทมองรอบคอบมากขึ้น เกี่ยวกับความต้องการภายในประเทศ การใช้จ่ายภายในประเทศช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าอาจดีขึ้นบ้าง การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มจะทำให้ผิดหวังกับการเป็นแหล่งสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลจากคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์ภายในต่ำกว่าส่วนใหญ่คาดไว้ เครดิต สวิสจึงประเมินให้ดุลบัญชีเกินดุลมากขึ้นปีหน้า ประมาณ -9 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2%ของจีดีพี และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในปีนี้ จะมากขึ้นและมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ เพราะการนำเข้าขยายตัวอ่อนแอ"

    คาดธปท.ขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังปีหน้า

    เครดิต สวิส คาดด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับปกติที่ 2.5% ช่วงครึ่งหลังของปีหน้า ทั้งนี้เครดิต สวิสมองว่าธปท.ยังมีช่องให้ปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อมีปานกลาง จึงคาดว่าอุปสรรคในการปรับลดดอกเบี้ยมีมากขึ้นจากนี้ไป ธปท.เองมีแนวโน้มที่จะต้องยอมรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังในระยะใกล้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องตามมาจากการพิจารณาใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระยะยาว

    ทั้งนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมานั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงไม่ใช่ใหม่แต่อย่างใด การประกาศมาตรการการคลังถือว่าช่วยได้ แต่ไม่น่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้มากอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้ แต่การออกมาตรการต่างๆนับเป็นย่างก้าวในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งก่อนหน้านี้เครดิต สวิส คาดหวังให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

    ทีมงานเครดิต สวิส คำนวณว่าจากข้อมูลที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้จ่ายงบรัฐบาลช่วง 3 เดือนสุดท้ายปีนี้ที่ 1.1 ล้านล้านบาท หมายถึงรัฐบาลกำลังใช้จ่ายในไตรมาสสุดท้ายปีนี้คิดเป็น 43%ของงบประจำปีทั้งหมด เทียบกับ 33%ในปีที่แล้ว และค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่ 24% ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่าย เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องสร้างสมดุลเร่งเบิกจ่าย บนเป้าหมายทำการคลังให้โปร่งใส ต้องควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล



    Tags : จิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา • ธปท. • อีซีบี • ทุนเคลื่อนย้าย

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้