ธ.ก.ส.ดันยืดหนี้เกษตรกร6เดือน

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 12 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ธ.ก.ส.หวั่นกระทบหนี้เสีย ดันยืดหนี้เกษตรกร6เดือน

    "ธ.ก.ส." เตรียมขยายมาตรการชำระหนี้เกษตรกรออกไปอีก 6 เดือนเป็น 1 ปี หวั่นกระทบภาพรวมหนี้เสียธนาคาร หลังประเมินเม็ดเงินจัดสรรจ่ายหนี้จำนำจากรัฐบาลล่าช้า เล็งหารือรัฐบาลใหม่ ช่วยรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตร ยอดค้างหนี้จำนำยังเหลืออีก 50% เป็นเงิน 9 หมื่นล้านบาท ระบุ ยอดเงินจ่ายล่าช้าและราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม เล็งชงคลังขายหุ้นให้เกษตรกรสัดส่วน 25% ลดภาระการเพิ่มทุนจากงบประมาณ

    นายลักษณ์ วจนานวัช กรรมการและผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมที่จะขยายระยะเวลามาตรการการชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน เป็น 1 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อเกษตรกรของธนาคารที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล หากว่า รัฐบาลยังไม่สามารถจัดสรรเงินมาชำระหนี้เกษตรกรในส่วนที่เหลือตามระยะเวลาของมาตรการที่กำหนดไว้ภายในเดือนกันยายนนี้

    “เดิมเราคิดว่า ระยะเวลา 6 เดือน สำหรับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้แก่เกษตรกรนั้น จะเพียงพอ แต่เท่าที่ประเมินจากเม็ดเงินที่จะเข้ามา เพื่อจ่ายหนี้ค้างแก่เกษตรกรในโครงการจำนำข้าวนั้น อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น ซึ่งตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้าตามปกติของธนาคารจะสามารถยืดเวลาการชำระหนี้ของธนาคารได้ถึง 1 ปี แต่ลูกค้าจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราปกติด้วย”เขากล่าว

    ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เห็นชอบให้หนี้ที่ได้รับการขยายระยะเวลาการชำระดังกล่าว จะยังเป็นหนี้ที่ไม่ถูกจัดชั้นว่า เป็นหนี้ค้างชำระ เพราะเห็นตรงกันว่า ภาระหนี้ในใบประทวนของเกษตรกร เกิดจากนโยบายรัฐบาล ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลใดเข้ามาบริหาร จะต้องทำการชำระให้แก่เกษตรกร ส่วนระดับหนี้เสียของธนาคารในปัจจุบันอยู่ที่ 4.10% ปรับเพิ่มเล็กน้อยจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.95% ของสินเชื่อคงค้าง

    เล็งหารือรัฐบาลรับภาระดอกเบี้ย

    เขากล่าวด้วยว่า ธนาคารยังให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สำหรับเกษตรกรที่ต้องการนำไปลงทุนในฤดูกาลใหม่ด้วย ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้ามาใช้สินเชื่อกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งผ่านทั้งสินเชื่อปกติ และผ่านการใช้บัตรสินเชื่อ ในส่วนนี้ เกษตรกรจะต้องเสียอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต้องมาพิจารณากันว่า ทางรัฐบาลจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร

    “เกษตรกรที่ได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้และขอสินเชื่อใหม่นั้น เขามีภาระดอกเบี้ยต้องดูว่า รัฐบาลใหม่จะเข้ามาดูแลเกษตรกรส่วนนี้ได้อย่างไรบ้าง” เขากล่าว

    ยอดค้างหนี้จำนำเหลืออีก50%

    สำหรับความคืบหน้าของการจ่ายเงินให้เกษตรกรในโครงการจำนำข้าวปี 56/57 โดยจากจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้าโครงการจำนวน 1.52 ล้านราย ขณะนี้ ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรไปแล้ว 7.8 แสนราย คิดเป็นเงินประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท ถือว่า สามารถจ่ายได้แล้ว 50% ของจำนวนราย และเงินที่เข้าโครงการทั้งหมด ขณะนี้เหลือเกษตรกรที่รอรับเงินอีก 7.4 แสนราย เป็นเงินที่ต้องจ่ายให้เกษตรกรอีก 9 หมื่นล้านบาท

    ขณะนี้ ยังเหลือเงินที่ได้จากการระบายกำลังจ่ายให้เกษตรกรอีก 1 พันล้านบาท และเงินที่รอการจ่ายออกไปจากกองทุนช่วยเหลือชาวนาอีก 6 พันล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายนับจากนี้ สัปดาห์ละ 1 พันล้านบาท

    จ่ายคืนงบกลางแล้ว1.5หมื่นล้าน

    สำหรับยอดการส่งเงินคืนจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ เขากล่าวว่า ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารได้รับการส่งเงินคืนดังกล่าว 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอใช้งบกลาง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายให้เกษตรกรเร็วขึ้น แต่มีกำหนดระยะเวลาที่ต้องนำเงินดังกล่าวส่งคืนภายในเดือน พ.ค. นี้ ซึ่งได้ส่งคืนงบกลางไปแล้วจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ยังเหลืออีก 5 พันล้านบาท เรากำลังรอเงินจากการระบายข้าว

    ธนาคารยังหวังเม็ดเงินจากการกู้ ของกระทรวงการคลังที่จะเข้ามาช่วย หากสามารถกู้ได้ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2557 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท ปัญหาการจ่ายหนี้คืนเกษตรกรจะหมดไปทันที คาดว่า กระทรวงการคลังจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินผู้ให้กู้ เพราะเท่าที่ทราบ สถาบันการเงิน ต้องการที่จะให้กู้ แต่ติดเรื่องปัญหาทางกฎหมายว่า จะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หรือไม่

    จี้คลังค้ำออกพันธบัตรออมทรัพย์

    ส่วนแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคาร โดยที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันนั้น เขากล่าวว่า ธนาคารได้ส่งผลการหารือของคณะกรรมการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาไปแล้ว โดยชี้แจงไปว่า กรณีที่จะให้ธนาคารดำเนินการเรื่องดังกล่าว มีข้อกังวล 2-3 เรื่อง กล่าวคือ ในเรื่องของผลตอบแทนนั้น จะสูงกว่า การที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประมาณ 0.25-0.5% ที่สุดแล้ว จะกลายเป็นภาระของรัฐบาล และ กระบวนการของการออกพันธบัตรโดยคลังไม่ค้ำจะต้องใช้เวลาการจัดการประมาณ 4 เดือน ที่สำคัญ คือ ความไม่สอดคล้องกับยอดเงินที่จะได้จากการระบายข้าวหากพันธบัตรครบอายุ ซึ่งจะมีปัญหาตามมาได้

    “เป็นข้อกังวลที่เราได้ส่งให้ รมว.คลัง ได้พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า จะให้เราทำอย่างไร ทาง รมช.คลัง ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ในฐานะประธานธนาคารได้สั่งการว่า ในระหว่างที่รอการพิจารณาของ รมว.คลัง ได้ขอให้ธนาคารไปจัดเครดิตของธนาคารให้เรียบร้อย” เขากล่าว

    จ่ายเงินช้าราคาข้าวตกกระทบศก.

    เขายังกล่าวถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กรณีที่ยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าวด้วยว่า แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็ได้ออกมาตรการไปช่วยดูแลส่วนหนึ่ง ในส่วนของการอ่อนตัวของราคาสินค้าเกษตร ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ปลูกข้าวนาปรังในปีการผลิตที่จะทยอยเก็บผลผลิตใน 1-2 เดือนนี้ ถือเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบมาก เพราะราคาปรับลดลงมาเหลือ 6-7 พันบาทต่อตัน ประเด็นนี้ รัฐบาลคงจะได้มีการหารือว่า จะมีมาตรการใดเข้ามาช่วยดูแลบ้าง

    สำหรับสภาพคล่องของธนาคาร ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 13.10% โดยยอดเงินฝากของธนาคารอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดถึง 3 เท่า ซึ่ง ธปท.ให้สำรอง 6% ของยอดเงินฝาก ปัจจุบันเราสำรอง 20% ของยอดเงินฝากในปีนี้ เราจะพยายามรักษาระดับเป้าหมายเงินฝากไว้ที่เดิม ถือเป็นการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคาร ขณะที่ ธนาคารอยู่ระหว่างการรอจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาลที่ได้ใช้สภาพคล่องของธนาคาร เพื่อโครงการของรัฐบาลต่างๆ ไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีกำหนดจะทยอยจ่ายในช่วง 4 ปี ขึ้นอยู่กับสถานะของงบประมาณในแต่ละปี

    สินเชื่อโต10%สำรองหนี้เกินร้อย

    ส่วนเป้าหมายสินเชื่อปีนี้จะอยู่ที่ 10% เป็นเงินสินเชื่อใหม่ 1 แสนล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป โดยปีก่อนเราโตได้ถึง 12% ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของแบงก์รัฐ และยังคงประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงตามปกติ ปีนี้ธนาคารจะมีสินเชื่อก้อนใหญ่ จากกองทุนอ้อยและน้ำตาล 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมไว้นำไปช่วยพยุงราคาอ้อยเพิ่มอีกตันละ 160 บาท

    ด้านหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.10% ของสินเชื่อคงค้าง ธนาคารได้กันสำรองเต็ม 100% และขอ ธปท.สำรองตามจำเป็นสำหรับหนี้ที่คิดว่า มีโอกาสจะเสื่อมค่าเพิ่มอีก โดยยอดหนี้เสียในอัตราดังกล่าวมีประมาณ 4 หมื่นล้านบาทนั้น แต่สำรองเงินไว้มากถึง 1.86 แสนล้านบาท หรือ 5 เท่าของหนี้เสียทั้งหมด ถือเป็นความมั่นคงหากหนี้เสียเกิดขึ้นมากกว่านั้น

    “ธนาคารโลกเขาเสนอให้เราสะสางหนี้ที่เราประเมินว่าจะมีการเสื่อมค่า โดยใช้วิธีการตัดออก แต่เราก็พยายามที่จะดูแลหนี้ส่วนนี้ให้ดีที่สุด โดยใช้วิธีให้บุคคลในครอบครัวเข้ามารับช่วงหนี้ดังกล่าวต่อไป”เขากล่าว

    เสนอคลังขายหุ้น25%ให้เกษตรกร

    เขากล่าวด้วยว่า ต่อไปรัฐบาลอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งจะกระทบต่อการเพิ่มทุนของธนาคาร ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะลดภาระของรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยให้ประชาชนทั่วไป เกษตรกรและกลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังต้องขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมา ตามกฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลัง ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 75% ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้น 99%

    “ถือเป็นแผนที่ผมต้องการจะผลักดันในช่วงที่เหลือของการนั่งในตำแหน่งนี้ หากมีเกษตรกรหรือประชาชนเข้ามาช่วยถือหุ้น จะทำให้เกษตรกรรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และมีตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ ทั้งยังลดภาระงบประมาณในการเพิ่มทุนด้วย”เขากล่าวและว่า ปัจจุบันทุนจดทะเบียนของธนาคารอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท ได้รับการชำระแล้ว 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนทุนดังกล่าว สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจได้อีก 3-5 ปี

    Tags : ธ.ก.ส. • เกษตรกร
     

แบ่งปันหน้านี้