อีคอมเมิร์ซคือโอกาสสำหรับสินค้า SME ทุกรูปแบบ ขี้ไก่-ขี้วัว ก็ขายออนไลน์ได้

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 20 มีนาคม 2018.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ในงานสัมมนา Bangkok Fintech Fair 2018 ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย มีหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ All-in-one e-Platform: Future Solutions for SMEs? ที่พูดถึงประเด็นเรื่องบทบาทของ e-commerce และ e-payment ในการพัฒนาธุรกิจ SME ของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากแพลตฟอร์ม e-commerce และ e-payment เข้าร่วมเสวนาด้วยหลายราย

    [​IMG]

    [​IMG]

    อีคอมเมิร์ซมีหลายเซกเมนต์ เปิดโอกาสให้ทุกคน สินค้าทุกรูปแบบ


    Tiwa York จาก Kaidee ระบุว่าเมื่อพูดถึง e-commerce คนมักคิดถึงสินค้ากลุ่มที่เป็นที่สนใจมากๆ อย่างเช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง สมาร์ทโฟน และมักโฟกัสกันแค่สินค้ากลุ่มนี้ แต่จริงๆ แล้ว e-commerce เป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนทุกระดับอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ขึ้นกับแค่ว่าเราจะพูดถึง e-commerce ในแง่มุมไหนเท่านั้น

    อย่างบนเว็บไซต์ Kaidee เอง สินค้ายอดนิยมกลับเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ อสังหาริมทรัพย์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และพระเครื่อง! ตัวอย่างสินค้าที่น่าสนใจคือ มีคนมาขาย "ขี้ไก่-ขี้วัว" ผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แถมนี่ไม่ใช่การขายแค่หนึ่งกระสอบ แต่เป็นการขายขี้ไก่เป็นตันๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เกษตรกรสามารถขายขี้ไก่ที่เหลือใช้ไปให้เกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการใช้งานได้ ซึ่งไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในยุคก่อนหน้านี้

    [​IMG]

    ตัวอย่างประกาศขาย "ขี้ไก่" บนเว็บไซต์ Kaidee

    SME ต้องเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ต้องโฟกัส อย่ากระจาย


    Tiwa York ยังให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME ไทยว่าจำเป็นต้องพิจารณาแพลตฟอร์มที่เหมาะกับตัวเอง อย่ากระจายทำไปทุกเรื่อง ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็น SME ที่ส่งออกสินค้าไปยังโลกตะวันตก ควรมองไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง eBay และการจ่ายเงินด้วย PayPal เป็นหลัก แต่ถ้าลูกค้าของเราเป็นคนจีน ก็ควรโฟกัสไปที่ Alipay เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องสนใจสิ่งอื่น เพราะ SME มีกำลังจำกัด แต่ละแพลตฟอร์มมีเรื่องต้องให้เรียนรู้เยอะ ถ้าทำทุกเรื่องก็จะไม่สามารถโฟกัสได้

    อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Tiwa ย้ำว่าธุรกิจที่ทำตัวเป็น "แพลตฟอร์ม" มีความสนใจหลักคือสร้างฐานลูกค้าให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ และธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของผู้ชนะ (winner take all) เจ้าตลาดอันดับหนึ่งจะครองตลาดด้วยส่วนแบ่งที่เยอะเสมอ ส่วนอันดับสองและอันดับสามอาจพออยู่ได้ แต่จะไม่มีกำไรมากนัก ทุกเจ้าจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแข่งกันเป็นที่หนึ่ง หรือไม่ก็ยอมถอยทัพจากตลาดนี้ไปเลย

    Tiwa ยกตัวอย่าง การลงทุนของ Alibaba ใน Lazada ก้อนล่าสุดอีก 2 พันล้านดอลลาร์ พร้อมเปลี่ยนตัว CEO เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า Alibaba ทุ่มสุดตัวเพื่อครองตลาดในภูมิภาคนี้ให้จงได้ ดังนั้นในมุมของ SME ที่จะเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องเข้าใจแง่มุมด้านนี้ด้วย และเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะสม

    [​IMG]

    Lazada ยังต้องเผชิญศึกหนักอีกมาก ในการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    เพิ่มโอกาสให้ผู้กระกอบการขนาดจิ๋ว (Micro SME) กลายร่างเป็น SME


    ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการ True Money เล่าถึงธุรกิจของ True Money นอกประเทศไทย ที่เน้นการเป็นตัวแทน (agent) ให้บริการทางการเงินในกลุ่มประเทศอาเซียน (อ่านรายละเอียดในบทความ อีกด้านของ TrueMoney ที่คุณไม่เคยรู้จัก กับธุรกิจตัวแทนการเงิน 5 หมื่นคนในอาเซียน) ว่าเน้นกลุ่มลูกค้าที่เรียกว่า "micro SME" หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กมากๆ ที่ทำการค้าด้วยตัวคนเดียวและไม่มีหน้าร้านด้วยซ้ำ

    ตัวอย่างกรณีศึกษาของ True Money ที่ประสบความสำเร็จในกัมพูชาคือตัวแทนคนหนึ่งชื่อว่า "ส้ม" เป็นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ชานเมืองพนมเปญ มีลูกสองคน สามีเข้าไปทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในเมืองและส่งเงินกลับมายังครอบครัว แต่ก็เหมือนเรื่องราวที่คุ้นเคยกันคือ สามีติดเหล้าและเลิกส่งเงินกลับบ้าน ส่งผลให้เธอขาดรายได้ แต่การเป็นตัวแทนของ True Money ทำให้เธอสามารถประกอบอาชีพด้วยตัวคนเดียวได้ และมีรายได้ถึง 2.5 เท่าของรายได้เฉลี่ยคนทั่วไป ล่าสุด True Money ให้เงินกู้ขนาดเล็กกับส้ม เพื่อเปิดเป็นร้านขายของชำของตัวเอง เป็นการพัฒนา "micro SME" ขึ้นมาเป็น "SME" ในขั้นต่อไป

    ปุญญมาศ ยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง e-wallet กับพร้อมเพย์ว่า ไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง แต่เป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน พร้อมเพย์เป็นแค่ตัวเชื่อมให้แพลตฟอร์มการเงินคุยกันได้ แต่ต้นทางหรือปลายทางจะใช้อะไรก็เป็นเรื่องของลูกค้า ซึ่งเป็นไปได้ทั้งแอพ e-wallet แบบ True Money หรือจะเป็นแอพธนาคารก็ได้เช่นกัน

    [​IMG]

    ธุรกิจตัวแทนของ TrueMoney ในกัมพูชา (ภาพจาก True Money)

    ใช้ AI ช่วยจับคู่ความต้องการ SME สามารถนำเสนอสินค้าให้ตรงกลุ่มลูกค้า


    สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พูดถึงบทบาทสำคัญของ e-payment ในการสร้าง demand platform ขนาดใหญ่ให้กับ SME ในมุมกลับ อย่างกรณีของธนาคารกสิกรไทยที่มีแอพ K PLUS มีฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่ถึง 8 ล้านคน มีเม็ดเงินหมุนเวียนเป็นหลักหมื่นล้านบาท ถ้าสามารถเชื่อมความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ โดยนำเสนอบริการที่ตรงใจได้ ก็จะเปิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจอีกมาก

    บริการตัวหนึ่งที่ธนาคารกสิกรไทยกำลังทดสอบอยู่คือ Machine Commerce เป็นการใช้ AI ช่วยนำเสนอสินค้าต่อผู้ใช้งาน (ปัจจุบันยังจำกัดเฉพาะพนักงานของธนาคารกสิกรไทยเท่านั้น เพราะยังทดสอบอยู่ใน sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย) เช่น การนำเสนอขายดอกไม้ในวันวาเลนไทน์ แจ้งเตือนผ่านแอพ สามารถกดซื้อได้เพียงคลิกเดียว กรอกที่อยู่ผู้รับและดอกไม้ไปส่งให้ถึงที่ทันที ความสะดวกเหล่านี้ทำให้คนที่ชีวิตนี้ไม่เคยซื้อดอกไม้มาก่อน มีประสบการณ์ซื้อดอกไม้ครั้งแรกเป็นจำนวนมาก และนอกจากดอกไม้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังลองขายผลผลิตทางการเกษตรอีกหลายอย่าง (เช่น ข้าวสาร) และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ ธนาคารยังมีบริการอีกตัวคือ Machine Lending ที่นำเสนอเงินกู้ขนาดเล็ก (microfinance) ให้กับธุรกิจ SME โดยใช้ big data ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วย (อ่านรายละเอียดในบทความ KBank เปิดตัว "เกด" (KADE) ระบบ AI เบื้องหลัง K PLUS ใช้งานได้จริงภายในปี 2018)

    [​IMG]

    สมคิด จิรานันตรัตน์ และบริการ Machine Commerce และ Machine Lending ของ KBTG

    ปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งยังเป็นเรื่อง Fraud


    Rohan Mahadeva จาก PayPal ให้ความเห็นในแง่อุปสรรคสำคัญของแพลตฟอร์ม e-commerce และ e-payment ว่ายังเป็นเรื่องของการฉ้อโกง (fraud) เช่นเดิม ปัญหาแบบเดิมๆ อย่างการส่งสินค้าและไม่ได้รับเงิน หรือจ่ายเงินก่อนแล้วไม่ได้รับสินค้ายังเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าของแพลตฟอร์มในการป้องกันและกำจัด fraud ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ผู้ขายและผู้ซื้อมั่นใจในการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง

    Tiwa เล่าถึงปัญหา fraud ของแพลตฟอร์ม Kaidee ว่าปัญหาที่พบเจอเป็นประจำคือเรื่องเดิมๆ ว่าลูกค้าไม่ได้มาเจอหน้ากันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ใช้วิธีโอนเงินหรือส่งของให้ล่วงหน้าและถูกโกง ซึ่งในฐานะแพลตฟอร์ม Kaidee เองก็พยายามกระตุ้นและให้ความรู้ผู้ใช้งานว่าต้องมาเจอหน้ากัน แต่ถ้าลูกค้าจะเลือกการโอนเงินให้ก่อนก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะตัว Kaidee เองมีสถานะเป็นตลาดนัดให้มาเจอหน้ากันเท่านั้น แต่ตัวธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านแพลตฟอร์มของ Kaidee

    Topics: E-commerceFinTechKaideeKasikorn BankTrue Money
     

แบ่งปันหน้านี้