หุ้น-เงินบาทผันผวนตปท.ถล่มขาย8พันล.

หัวข้อกระทู้ ใน 'ข่าวสารการลงทุน' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 21 พฤษภาคม 2014.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    "หุ้น-ค่าบาท" ผันผวนหนัก หลังประกาศกฎอัยการศึก ต่างชาติถล่มขายหุ้นออกกว่า 8,000 ล้านบาท ขณะที่สถาบัน-โบรกเกอร์-รายย่อย โหมซื้อสู้

    ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นวานนี้ (20 พ.ค.) หลังมีการประกาศกฎอัยการศึก ปรากฏว่าหุ้น ถูกแรงถล่มขายของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากในหลายประเทศจะมีข้อกำหนดให้กองทุนต้องขายหุ้น หากมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้หุ้นดิ่งลงกว่า 20 จุด โดยหุ้นกลุ่มที่ถูกเทขาย จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยว และหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยดัชนีหุ้นลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 1,387.62 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาช่วงท้ายตลอด ส่งผลให้ดัชนีปิดที่ 1,394.69 จุด ปรับตัวลดลง 15.94 จุด หรือลดลง 1.13% โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 43,257.79 ล้านบาท ซึ่งต่างชาติชายสุทธิ 8,335 ล้านบาท ส่วนสถาบันซื้อสุทธิ 3,170 ล้านบาท รายย่อยซื้อ 3,399 ล้านบาท และบัญชีโบรกเกอร์ซื้อ 1,765 ล้านบาท

    ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทช่วงเช้า พบว่ามีการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 32.64 บาทต่อดอลลาร์ จากราคาปิดวันก่อนหน้า (19 พ.ค.) ที่อยู่ระดับ 32.43-32.47 บาทต่อดอลลาร์ แต่เริ่มรีบาวด์ในช่วงสายของวัน และกลับมาเคลื่อนไหวระดับเดียวกับราคาปิดของวันที่ 19 พ.ค.ได้ที่ระดับ 32.47 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางกระแสข่าวในวงการนักค้าเงินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาแทรกแซงเพื่อพยุงไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าลงเร็ว

    บาทอ่อนแตะ 32.64

    ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า เงินบาทวานนี้ เปิดตลาดที่ 32.64-32.65 ดอลลาร์ โดยเป็นการนำของตลาดต่างประเทศ หลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึก โดยระหว่างวันเงินบาทปรับตัวผันผวนขึ้นลงในกรอบกว้างๆ แข็งค่าสุดที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดที่ 32.65 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนมาปิดตลาดที่ 32.54-32.55 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง

    "วันนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวจากปัจจัยทางการเมืองอย่างเดียว ไม่มีผลจากอื่น โดยตลาดตื่นตระหนกค่อนข้างมาก แต่การซื้อขายเบาบางและตลาดค่อนข้างเงียบ พอมีแรงเทขายต่างชาติ และในประเทศทั้งผู้ส่งออกและนำเข้าที่กังวลกับเรทที่อ่อนค่อนข้างแรกก็รีบเข้ามาทำธุรกรรม ทำให้ตลาดแกว่งในกรอบกว้างๆ"

    ส่วนแนวโน้มเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้อีก เพราะการเมืองยังไม่มีความแน่นอน โดยคาดวันนี้ (21 พ.ค.) เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์

    คาดบาทอ่อนแตะ33เร็วๆนี้

    นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ตลาดเงินบาทวานนี้แกว่งตัวแรงไปในเชิงลบ เพราะต่างชาติเกิดความกังวลและเทขายสินทรัพย์สกุลเงินบาท ทั้งหุ้น ค่าเงินและพันธบัตร โดยช่วงเช้าบาทอ่อนค่าค่อนข้างแรง แม้ช่วงบ่ายจะปรับตัวดีขึ้น แต่สถานการณ์ยังไม่ปกติ

    "ตอนนี้แค่ไม่แพนิกมาก ต้องรอดูคืนนี้ว่าจะเป็นอย่างไร และปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร มีอะไรเป็นเชิงลบหรือไม่ ยังไม่มีใครลุกขึ้น แต่โดยรวมแนวโน้มค่าเงินบาทคงจะอยู่ในช่วงอ่อนค่าได้อีก เพราะทหารเข้ามาดูแลความสงบเท่านั้น แต่ยังมีความไม่แน่นอน เช่นว่าจะมีรัฐบาลหรือไม่ หรือจะต้องเลือกตั้งอยู่หรือไม่ ทำให้โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าได้เร็วกว่าที่เคยประเมินไว้ หรือเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทไปอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์เร็วๆ นี้"

    นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารธปท. กล่าวว่า แม้ช่วงต้นตลาดนักลงทุนบางส่วนอาจเกิดอาการตกใจบ้าง แต่หลังจากได้วิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ก็เริ่มคลายความกังวลทำให้เห็นการปรับตัว ที่ค่อนข้างรวดเร็วทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตร ส่วนประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ธปท. อยู่ระหว่างติดตามดูสถานการณ์

    ตปท.ติดกฎขายหุ้นถ้ามีภาวะฉุกเฉิน

    นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกนั้น มองว่านักลงทุนต่างชาติไม่น่ามีการขายหุ้นออกมามากนัก เพราะนักลงทุนหลายรายมีความเข้าใจกับสถานการณ์การเมืองไทย อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง

    "ภาพของต่างชาติประเมินว่า ไม่น่าจะขายหุ้นออกมา และหากขายก็ไม่น่าจะมากจนน่ากังวล แม้ในหลายประเทศจะมีข้อกำหนดให้กองทุนต้องขายหุ้นหากมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น้อยมาก"

    ที่ผ่านมาต่างชาติลดน้ำหนักหุ้นไทยต่อเนื่อง หลังจากที่มีความขัดแย้งทางการเมือง แม้ในระยะสั้นจะมีแรงซื้อกลับเข้ามาบ้าง ถือว่ามีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับการขายไปก่อนหน้านี้ ภาพของกฎอัยการศึก ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมายของต่างชาติ เพราะการเมืองไทยตึงเครียดมาต่อเนื่อง ซึ่งการประกาศกฏอัยการศึกในมุมมองของต่างชาติที่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นไทย เหมือนเป็นสัญญาณที่ดีว่าปัญหาการเมืองน่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุด

    สำหรับการซื้อขายของต่างชาติ พบว่า ขายสุทธิตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.-19 พ.ค. 2,677.81 ล้านบาท แต่หากพิจารณาจากต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวานนี้ ชาติขายสุทธิ 7,593.75 ล้านบาท

    นักลงทุนระยะสั้นควรถอยออกก่อน

    นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้าง โดยจะเห็นการปรับตัวลงรับข่าว ส่วนบางกองทุน ต้องขายหุ้นออก เพราะมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถลงทุนในประเทศที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วน และผลกระทบของต่างชาติในภาพรวมอาจไม่มากแล้ว เพราะปีที่ผ่านมาขายหุ้นไปมาก และเพิ่งกลับมาซื้อไม่กี่เดือน

    สำหรับนักลงทุนระยะสั้น ต้องระมัดระวัง ให้เลี่ยงออกจากตลาด เพื่อรอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนนักลงทุนระยะยาว ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน เพราะระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังดีอยู่

    การใช้กฎอัยการศึก ถือเป็นเรื่องดีและเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจลาจล หรือการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนกลไกการทำงานต่างๆ ในการหาทางออกให้กับประเทศยังคงดำเนินการไปได้ตามปกติ ประชาชนและธุรกิจยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติไม่ได้มีผลกระทบอะไร

    ต่างชาติยังเชื่อมั่นตลาดบอนด์

    นายสุชาติ ธนฐิติพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ เพราะธุรกรรมการเงินต่างๆ ยังคงไหลเข้าออกได้ตามปกติ หากปฏิวัติอาจจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ต่างชาติส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้เชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ไทย และเศรษฐกิจของไทย จึงเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ปัจจุบันสัดส่วนการถือครองต่างชาติ 657,000 ล้านบาท คิดเป็น 88% เป็นตราสารหนี้ระยะยาว และการมีกฎอัยการศึกออกมาน่าจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้ต่างชาติได้ว่า น่าจะควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบได้ไม่เกิดความรุนแรง และหาทางออกได้น่าจะเป็นผลบวกด้วย

    "ผลกระทบในตลาดตราสารหนี้ไม่มาก เพราะไม่เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง และผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่ เป็นสถาบัน จึงส่งผลกระทบไม่มากนัก หลังประกาศใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.01-0.02%"

    Tags : ตลาดหุ้น • ค่าเงินบาท • การเมือง • กฎอัยการศึก

    [​IMG]
     

แบ่งปันหน้านี้