KBank เปิดแผนดิจิทัล ดัน K Plus เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้หลักสิบล้าน เปิด API ให้ภายนอก

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 22 กันยายน 2017.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    เมื่อวานนี้ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) นำโดยคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) พบปะสื่อมวลชนเพื่อเล่าแผนการและยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของธนาคาร

    หัวหอกด้านดิจิทัลของธนาคารกสิกรไทยคือแอพ K Plus ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 6.5 ล้านคน มากที่สุดในบรรดาแอพของธนาคารไทยทุกราย ซึ่งทางธนาคารก็ตั้งเป้าว่าปีนี้ต้องมีผู้ใช้ 8 ล้านคน และในอนาคตจะเป็นแอพที่มีผู้ใช้แตะหลัก 10 ล้านคนได้สำเร็จ

    ด้วยฐานผู้ใช้งานที่ใหญ่ระดับนี้ ธนาคารจึงมองว่า K Plus เปลี่ยนจาก "ช่องทาง" (channel) มาเป็น "แพลตฟอร์ม" (platform) และนี่คือประเด็นหลักของการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้

    [​IMG]

    พร้อมเพย์เป็นแค่จุดเริ่มต้น


    มุมมองของธนาคารกสิกรไทย มองว่าพร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงินของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีเอกลักษณ์เพราะทุกธนาคารร่วมกันกำหนดมาตรฐานเดียวกันตั้งแต่ต้น หน้าที่ของพร้อมเพย์คือเป็น "ตัวแทน" ของประชาชนแต่ละคนในการโอนเงิน-จ่ายเงิน โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอีกฝ่ายมีบัญชีธนาคารไหน

    โครงสร้างของพร้อมเพย์มีด้วยกัน 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือโอนเงินส่วนบุคคล ซึ่งเปิดใช้งานแล้ว อีกสองส่วนที่เหลือจ่ายบิล (bill payment) และขอให้จ่ายเงิน (request to pay) ซึ่งมีข้อมูล reference code เพิ่มเข้ามาด้วย จะเปิดบริการวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560

    [​IMG]

    KBank เลือกแนวทางใช้ e-wallet ในพร้อมเพย์ของตัวเอง


    ระบบของพร้อมเพย์ในปัจจุบัน มี "ตัวแทน" ที่ใช้แทนเลขบัญชีธนาคารอยู่ 3 แบบคือ เบอร์โทรศัพท์, เลขประจำตัวประชาชน และหมายเลข e-wallet ซึ่งเราเริ่มเห็นผู้ให้บริการ e-wallet หลายเจ้าก็เปิดตัวบริการโอนเงินพร้อมเพย์กันบ้างแล้ว

    [​IMG]

    คุณสมคิดมองว่าเลขประจำตัวประชาชนเป็น "ข้อมูลพึงสงวน" ที่ไม่ควรให้คนอื่นรู้ และควรใช้สำหรับการรับเงินจากหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ ส่วนเบอร์โทรศัพท์เป็นข้อมูลที่เหมาะกว่าสำหรับการบอกคนอื่นให้โอนเงินมาหาเรา

    อย่างไรก็ตาม เบอร์โทรศัพท์ก็ยังมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว สมมติว่าเราสร้าง QR Code สำหรับรับเงินพร้อมเพย์ โดยใช้เบอร์โทรศัพท์แทนตัว คนที่รู้วิธีการก็สามารถสแกน QR Code เพื่ออ่านค่าเบอร์โทรศัพท์กลับคืนมาได้

    ส่วนหมายเลข e-wallet ในระบบพร้อมเพย์ ในทางเทคนิคแล้วมี 15 หลัก แต่พร้อมเพย์จะสนใจแค่ 3 หลักแรกว่าเป็นของผู้ให้บริการ e-wallet รายใด (กระบวนการคือธุรกรรมจะส่งผ่านบริษัทกลาง ITMX ที่จะดูแค่เลข 3 หลักแรก แล้วส่งธุรกรรมต่อไปยังผู้ให้บริการเป็นคนประมวลผล) ตัวเลขอีก 12 หลักที่เหลือเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการไปจัดการกันเอง จะใช้เป็นอะไรก็ได้ จะเข้ารหัสตัวเลขเพื่อไม่ให้มีใครรู้ว่าหมายถึงอะไรก็ได้

    แนวทางของ KBank จึงมองว่าหมายเลข e-wallet เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวมากกว่า บวกกับ KBank ก็มีใบอนุญาตให้บริการ e-wallet อยู่แล้ว (ในชื่อ K+ Wallet) จึงเลือกใช้แนวทางนี้สำหรับบริการดิจิทัลในเครือของตัวเอง

    ลูกค้าใช้ K Plus ร้านค้าใช้ K Plus Shop


    สมการของ KBank จะมีแอพมือถือ 2 ตัวใช้คู่กัน ฝั่งลูกค้าหรือบุคคลทั่วไปใช้แอพ K Plus ที่รู้จักกันดีในวงกว้างอยู่แล้ว แต่ในฝั่งของร้านค้ากำลังมีแอพตัวใหม่ชื่อ K Plus Shop ที่ออกแบบมาให้ร้านค้ารับจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัลได้สะดวกขึ้น

    หมายเหตุ: ปัจจุบัน K Plus Shop ยังไม่เปิดให้ใช้งานในวงกว้าง เพราะมีสถานะกำลังทดสอบอยู่ใน regulatory sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีร้านค้าในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น จตุจักร สยามสแควร์ ที่มีสิทธิใช้งาน แต่เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยอนุมัติให้พ้นจาก sandbox เมื่อไร ก็จะเปิดให้คนทั่วไปใช้งานได้ทันที

    [​IMG]

    K Plus Shop เป็นแอพที่ออกแบบมาสำหรับร้านค้า มีฟีเจอร์พื้นฐานตั้งแต่ดูสถิติการจ่ายเงินของลูกค้า ระบบแจ้งเตือนบนหน้าจอว่าลูกค้าจ่ายเงินเข้ามาแล้ว (ไม่ต้องพึ่งการแจ้งเตือนผ่าน SMS) การตรวจสอบว่าเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าคนใด (ไม่ต้องโอนติดเศษสตางค์อีกต่อไป) ระบบเก็บสถิติยอดขายในแต่ละวัน ไปจนถึงระบบรับพรีออเดอร์สินค้า และการเก็บแต้มของสมาชิก

    อธิบายง่ายๆ ว่าเป็นโซลูชันครบวงจรสำหรับร้านค้าปลีกทั่วไป ไม่ใช่แค่เรื่องการโอนเงิน-จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว

    [​IMG]

    [​IMG]

    K Plus คุยกับ K Plus Shop ด้วย API พิเศษ


    ผู้ใช้ K Plus สามารถจ่ายเงินให้ร้านค้าใดๆ ก็ได้ผ่านระบบพร้อมเพย์ตามปกติ ส่วนร้านค้าที่ใช้ K Plus Shop ก็รับการจ่ายเงินจากลูกค้าคนใดก็ได้ผ่านพร้อมเพย์ โดยจะเป็นธนาคารใดก็ได้

    แต่ถ้าหากผู้ใช้ K Plus มาเจอกับร้านค้าที่ใช้ K Plus Shop ก็จะมีฟีเจอร์พิเศษเพิ่มเข้ามาอีกหลายอย่าง ที่ชัดเจนที่สุดคือถ้าลูกค้าโอนเงินให้ร้านค้าแล้วโอนผิด หรือมีการเปลี่ยนแปลงออเดอร์ ฝั่งของร้านค้าสามารถกด "คืนเงิน" ให้ลูกค้าได้ทันที และเงินจะกลับคืนบัญชีของลูกค้าตอนนั้นเลย

    ฟีเจอร์อื่นที่เพิ่มเข้ามาคือ ลูกค้า K Plus จะเห็นภาพของร้านค้าที่ใช้ K Plus Shop ก่อนจ่ายเงิน เพื่อยืนยันว่าเป็นร้านนี้จริงๆ (หรือกรณีที่จ่ายเงินแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็เป็นหน้าของคนขับได้เช่นกัน)

    เหตุผลที่ทำแบบนี้ได้ เป็นเพราะแอพ K Plus กับ K Plus Shop จะคุยกันเองผ่าน API พิเศษของธนาคารเอง โดยในระบบของพร้อมเพย์ (อ่านบทความ มีอะไรอยู่ใน PromptPay QR แกะสเปค QR ประกอบ) มีฟิลด์หรือ "แท็ก" สำหรับการจ่ายเงินอยู่ 3 แบบคือ

    • Tag 29 สำหรับการโอนเงิน (transfer)
    • Tag 30 สำหรับการชำระบิล (bill payment)
    • Tag 31 สำหรับ API เฉพาะแต่ละธนาคาร

    [​IMG]

    กรณีของธนาคารกสิกรไทย ได้เลือกใช้ Tag 31 เป็นหลักในการคุยกันระหว่างแอพของธนาคารเอง ทำให้การสื่อสารระหว่าง K Plus และ K Plus Shop มีฟีเจอร์มากกว่าการโอนเงินพร้อมเพย์ปกติ

    API ของธนาคารกสิกรไทย จะเปิดให้หน่วยงานอื่นๆ หรือสตาร์ตอัพเข้ามาใช้งานได้ในอนาคต โดยไม่คิดค่าบริการ ปัจจุบันมีแอพ e-wallet เข้ามาเชื่อมต่อแล้วหนึ่งตัวคือ AIS mPay

    Beyond QR อนาคตของการจ่ายเงินไม่ได้มีแค่ QR Code


    ตอนนี้การสื่อสารระหว่าง K Plus และ K Plus Shop ยังต้องผ่าน QR Code ตามสเปกของพร้อมเพย์ ยังต้องใช้วิธีสแกนโค้ดระหว่างกันอยู่ แต่ในอนาคตก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้แอพสองฝั่งสื่อสารกันได้แบบไม่ต้องมี QR

    KBank เรียกแนวทางนี้ว่า Beyond QR ซึ่งก็เริ่มทดสอบเป็นการภายในบ้างแล้ว เช่น การคุยกันผ่าน Bluetooth LE (Beacon), การคุยกันด้วยเสียงความถี่สูงที่มนุษย์ไม่ได้ยิน (ultrasonic) หรือการคำนวณพิกัดว่าอยู่ใกล้เคียงกัน แล้วสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันตามปกติ

    ในมุมของผู้ใช้งานก็ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่เปิดแอพ K Plus ขึ้นมาก็จะเห็นว่ามีจุดรับจ่ายใดบ้างอยู่ใกล้เคียงในบริเวณนั้น แล้วกดจ่ายได้ทันที

    [​IMG]

    K Plus Lifestyle ไม่ใช่แค่การเงิน แต่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ลูกค้า


    นอกจากฟีเจอร์ใหม่ๆ ในเชิงเทคนิคแล้ว การที่ KBank กำลังจะมีฐานผู้ใช้ K Plus ระดับสิบล้านคน จึงมองว่านี่คือแพลตฟอร์มที่สามารถต่อยอดได้

    สิ่งแรกที่จะเกิดในปีนี้คือ K Plus Lifestyle หรือการเปิดให้ร้านค้า-ธุรกิจต่างๆ เข้ามานำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าของ KBank โดย KBank มองว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่ธุรกิจสามารถเข้ามา integrate บริการกันได้ง่าย

    [​IMG]

    อีกอย่างที่ KBank กำลังทดลองทำคือการใช้ machine learning ช่วยจับคู่ระหว่างลูกค้ากับสินค้าที่น่าจะเหมาะสม (machine commerce) และสามารถขายผ่านแอพ K Plus ได้ทันที ตอนนี้ก็ทดลองบ้างแล้วกับพนักงานของธนาคารกสิกรไทย แต่ยังไม่เปิดให้คนนอกใช้งานเพราะยังติด sandbox อยู่เช่นกัน

    [​IMG]

    แนวทางการใช้ AI ยังไม่จบแค่การขายของ อีกโครงการหนึ่งของ KBank คือ machine lending หรือการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคลให้ลูกค้า K Plus โดยอิงจากฐานข้อมูล big data ที่ธนาคารรู้ข้อมูลธุรกรรมของลูกค้าอยู่แล้ว และประเมินความเสี่ยงได้ว่าลูกค้ามีโอกาสจ่ายคืนเงินกู้มากน้อยแค่ไหน

    ทาง KBank มองว่าการกู้เงินในปัจจุบันคือลูกค้าไปขอกู้จากธนาคาร แต่ในอนาคต ธนาคารจะเป็นคนเสนอเงินกู้ให้ลูกค้าเองผ่านแอพ และถ้าหากลูกค้าตกลงขอกู้ กระบวนการอนุมัติเงินกู้จะต้องเป็นไปอย่างอัตโนมัติและเสร็จภายในเวลาไม่กี่นาที แล้วเงินจะต้องโอนเข้าบัญชีลูกค้าทันที เป็นประสบการณ์ที่แตกต่างจากการกู้เงินในปัจจุบันที่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์

    [​IMG]

    Topics: Kasikorn BankFinTechBanking
     

แบ่งปันหน้านี้