จับตาประมูลคลื่น 1800MHz รอบใหม่ ภาคสุดท้ายของไตรภาค สงครามโทรคมนาคมไทย

หัวข้อกระทู้ ใน 'เทคโนโลยี' เริ่มโพสต์โดย iPokz, 15 ธันวาคม 2017.

  1. iPokz

    iPokz ~" iPokz "~ Staff Member

    ปีหน้า 2561 จะเป็นปีสำคัญของวงการโทรคมนาคมไทยอีกครั้ง เมื่อ กสทช. ประกาศจัดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ (คลื่นของ dtac ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2561) ถือเป็นการประมูลครั้งสำคัญของ dtac ที่จะต้องทุ่มสุดตัว คว้าคลื่นมาครองให้จงได้

    ในภาพรวม การประมูลครั้งนี้ถือเป็นภาคสุดท้ายของ "ไตรภาค" การประมูลคลื่นโทรคมนาคม ที่จะเป็นการปิดฉากความถี่ในระบบสัมปทานเดิม และเป็นการพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคของใบอนุญาตอย่างสมบูรณ์

    ในโอกาสนี้เรามาย้อนดูการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในไทยทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา

    ภาคแรก: ประมูลคลื่น 2100MHz จุดเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ในไทย


    การประมูลคลื่นครั้งแรกของไทยเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2555 (ค.ศ. 2012) หรือเมื่อ 5 ปีก่อน หลัง กสทช. นำคลื่นย่าน 2100MHz จำนวน 45Mhz ที่ไม่เคยถูกใช้งานมาก่อนมาเปิดประมูล (จึงไม่มีปัญหาเรื่องการต่ออายุคลื่น) โดยมีบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ทั้ง 3 รายคือ AIS, dtac, True เข้าร่วมประมูลเพื่อเปิดให้บริการ 3G

    ผลการประมูลจบลงตามความคาดหมาย เพราะทุกรายต่างประมูลคลื่น 15MHz ตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้ราคาสุดท้ายขยับจากราคาตั้งต้นไม่มากนัก

    การประมูลครั้งนี้ กสทช. แบ่งคลื่น 45MHz ออกเป็น 9 สล็อต (สล็อตละ 5MHz) โดยมีราคาตั้งต้นสล็อตละ 4,500 ล้านบาท รวมเป็น 40,500 ล้านบาท (ราคาสุดท้ายจบที่ 41,625 ล้านบาท)

    ภาคสอง: ประมูลคลื่น 1800MHz / 900MHz และตัวป่วน JAS


    จากนั้น ประเทศไทยก็เริ่มก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน มาสู่ระบบใบอนุญาตแบบใหม่ โดยเริ่มจากสัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz ของ True ที่หมดลงในปี 2556 (2013) แต่ กสทช. กลับไม่สามารถจัดประมูลได้ทัน จนเป็นเหตุให้ต้องออก "มาตรการเยียวยา" ต่ออายุให้ใช้งานคลื่นต่อไปอีกพักใหญ่ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้ใช้โทรศัพท์

    ลำดับถัดมาเป็นคิวของ AIS กับคลื่น 900MHz ที่หมดสัญญาสัมปทานในปี 2558 (2015) แต่ กสทช. ก็ยังมีปัญหาไม่สามารถจัดการประมูลคลื่นได้ทันก่อนหมดสัญญา ทำให้ต้องต่ออายุใช้มาตรการเยียวยาเช่นเดียวกัน

    เมื่อการประมูลล่าช้าออกไป กสทช. จึงตัดสินใจนำคลื่นทั้งสองย่านมาประมูลในช่วงไล่เลี่ยกัน ได้แก่ คลื่น 1800MHz ในเดือนพฤศจิกายน 2558 และคลื่น 900MHz ในเดือนธันวาคม 2558

    การประมูลรอบนี้แตกต่างไปจากครั้งแรก เพราะมีผู้เล่นรายที่สี่อย่าง JAS Mobile เข้ามาร่วมด้วย ทำให้ดีกรีของการแข่งขันร้อนแรงกว่าเดิมมาก

    การประมูลคลื่นชุด 1800MHz ต่อสู้กันอย่างดุเดือด และจบลงด้วยชัยชนะของ AIS กับ True ทำให้ราคาคลื่น 2 สล็อต (สล็อตละ 15MHz) พุ่งไปสู่ถึงสล็อตละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท (สรุปผลการประมูล

    ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การประมูลคลื่น 900MHz ยิ่งร้อนแรงเข้าไปใหญ่ ใช้เวลาประมูลกันมาราธอน 4 วัน 4 คืน และจบแบบพลิกล็อกโดย JAS เข้ามาคว้าชัยคู่กับ True ในราคาสล็อตละประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท (สรุปผลการประมูล) ท่ามกลางคำถามและข้อสงสัยว่า ราคาแพงเกินไปหรือไม่ และ JAS จะมีปัญญาจ่ายจริงหรือไม่

    ผลลัพธ์เป็นไปตามคาดเมื่อ JAS ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูล (บทวิเคราะห์) และ กสทช. ต้องจัดการประมูลคลื่น 900MHz ใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2559 (ค.ศ. 2016) โดยใช้ราคาตั้งต้นที่ 75,654 ล้านบาท เท่ากับราคาสุดท้ายของ JAS ผลคือมี AIS เข้าประมูลเพียงรายเดียว และได้คลื่นไปตามต้องการในราคาดังกล่าว

    [​IMG]

    ภาพจาก Starwars.com

    ภาคสาม: The Last Jedi?


    บริษัทเดียวที่ยังเหลือคลื่นภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานเดิมคือ dtac ซึ่งสัญญาจะหมดลงในปีหน้า 2561 ทำให้การประมูลครั้งนี้สำคัญต่อ dtac มาก เพราะ dtac ไม่ชนะการประมูลใดๆ เลยในรอบก่อนหน้านี้ dtac จึงหลังชนฝาและต้องชิงคลื่นมาให้จงได้ มิฉะนั้นอาจต้องถอนตัวจากธุรกิจนี้ไปเลย

    ตามแผนการของ กสทช. คือประมูลคลื่น 2 ย่าน (อ้างอิง) ได้แก่

    • คลื่นย่าน 900MHz ขนาด 5MHz สล็อตเดียว ราคาตั้งต้น 37,988 ล้านบาท (ยึดตามราคาสุดท้ายของคลื่น 900MHz ในปี 2558 มาเป็นฐาน)
    • คลื่นย่าน 1800MHz ขนาด 45MHz แบ่งสามสล็อต ราคาตั้งต้นสล็อตละ 37,457 ล้านบาท (ยึดตามราคาสุดท้ายของคลื่น 1800MHz ในปี 2558 มาเป็นฐาน)

    การนำราคาสุดท้ายของการประมูลครั้งก่อน (ที่ต่อสู้กันไปเยอะจนแพงขึ้นมาก) มาใช้เป็นฐานคำนวณราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งใหม่ จึงก่อให้เกิดคำถามว่า ในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีต้นทุนค่าคลื่นที่แพงขึ้นไปเรื่อยๆ หรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อสภาพธุรกิจของผู้ประกอบการ ซึ่งก็จะกระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว

    เพื่อเป็นการจับตาการประมูลครั้งประวัติศาสตร์ ที่จะปิดฉากระบบสัมปทานเดิมของไทยไปตลอดกาล (ใช้เวลา 6 ปีนับจากปี 2555) Blognone จึงจะมีซีรีส์การสัมภาษณ์และอภิปราย ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประมูลครั้งนี้ ผ่านทาง Facebook Live และเว็บไซต์ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 เป็นต้นไป

    Topics: AuctionTelecomNBTCSpecial Report
     

แบ่งปันหน้านี้